วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550

Special Thanks

ขอขอบคุณ เอกสารประกอบการเรียนวิชา 127330 จิตวิทยาการเมือง และหนังสือจิตวิทยาการเมือง ของ อ.ณรงค์ สิสวัสดิ์ ที่ใช้ไว้อ้างอิงในการเขียนบทวิเคราะห์


ขอขอบคุณ Blogger ทำให้ผมมีพื้นที่ในการนำเสนองาน


ขอขอบคุณหอสมุดกลางที่เอื้อเฟื้อสถานที่ให้มานั่งทำเวปบลอค


ขอขอบคุณจัมโบ้เนต เนตของชาว มช. ที่ทำให้ผมท่องโลกอินเตอร์เนตโดยไม่ติดขัด



ขอขอบคุณวิชา 127427 ที่ทำให้ผมยิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว


ขอขอบคุณอาจารย์ราม โชติคุต ที่เปิดวิชาดีๆให้ผมได้มาเรียน

บทวิเคราะห์เปรียบเทียบผู้นำทางการเมืองระหว่างมหาตมคานธี กับออล์ฟ ฮิตเลอร์

บทวิเคราะห์เปรียบเทียบผู้นำทางการเมืองระหว่างมหาตมคานธี กับออล์ฟ ฮิตเลอร์ ในประเด็นต่างๆดังนี้
1.ประเภทของผู้นำ
จากแนวคิดการแบ่งประเภทของชนชั้นนำของแม็กช์ เวเบอร์ สามารถนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบลักษณะผู้นำทางการเมืองระหว่าง คานธีและฮิตเลอร์ได้ กล่าวคือ มหาตม คานธี มีลักษณะของการเป็นผู้นำโดยบารมี ( Charismatic leader ) กล่าวคือ ผู้ที่มีลักษณะของการเป็นผู้นำโดยบารมีอย่างแท้จริงมักจะมีฐานะในการครอบงำผู้อื่นและมีลักษณะของการเป็นต้นแบบ ( Pure Type ) จะเห็นได้จากการที่คานธีสามารถครอบงำความคิดของชาวอินเดียในการต่อต้านชาวอังกฤษและคานธียังเป็นต้นแบบของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงให้ชาวอินเดียได้เห็นคือ การทอผ้าใช้เองเพื่อต่อต้านการเข้ามาของอังกฤษ เป็นต้น ผู้นำแบบนี้มักจะเป็นที่ต้องการในสถานการณ์ที่มีปัญหายุ่งยากทางสังคม การเกิดขึ้นของผู้นำชนิดนี้มักจะเกี่ยวข้องกับสภาพจิตของมวลชนซึ่งพร้อมที่จะมอบตัวอยู่ภายใต้การชี้นำของผู้นำ จะเห็นได้จากสถานการณ์ในขณะนั้นที่ชาวอินเดียถูกกดขี่โดยชาวอังกฤษทำให้สภาพจิตใจของชาวอินเดียในขณะนั้นย่ำแย่มาก ดังนั้นชาวอินเดียจึงต้องการผู้นำที่จะมาปลดปล่อยชาวอินเดียให้เป็นอิสรภาพ เมื่อคานธีมีแนวคิดที่จะมาปลดปล่อยชาวอินเดียให้เป็นอิสรภาพ ชาวอินเดียทั้งหลายจึงพร้อมที่จะมอบตัวให้อยู่ภายใต้การชี้นำของคานธี พูดง่ายๆคือ เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย นั่นเอง โดยทั่วไปแล้วพวกผู้นำโดยบารมีมักจะเป็นพวกหัวรุนแรง ( Radical ) ซึ่งก้าวขึ้นมาท้าทายกฎเกณฑ์ที่ยอมรับกันอยู่และกล้าที่จะแตกต่างออกไปทั้งจากความคิดและวิถีปฏิบัติที่คุ้นเคยแต่ดั้งเดิม มวลชนซึ่งเป็นผู้ตามมักจะยินดีหันหลังให้กับกฎระเบียบและเดินตามแบบแผนที่ไม่เคยมีมาก่อนซึ่งผู้นำบารมีเสนอขึ้นมา จะเห็นได้จากแต่เดิมอินเดียถูกปกครองโดยอังกฤษ กฎเกณฑ์ที่นำมาปกครองอินเดียทำให้ชาวอินเดียเป็นฝ่ายที่ถูกกดขี่ข่มเหงมาตลอด คานธียอมรับสภาพที่ชาวอังกฤษกระทำต่อชาวผิวดำไม่ได้ จึงลุกขึ้นมาท้าทายและต่อต้านความอยุติธรรมนั้น เมื่อชาวอินเดียเห็นว่าการลุกขึ้นมาท้าทายและต่อต้านจะเป็นสิ่งที่จะทำให้ชาวอินเดียได้รับอิสรภาพ ชาวอินเดียจำนวนมากจึงยินดีที่จะทำตามกฎระเบียบและเดินตามแบบแผนที่คานธีเสนอขึ้นมา
ส่วนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีลักษณะของการเป็นผู้นำแบบพ่อขุนอุปถัมถ์ ( Patrimonialism ) กล่าวคือ ตามแนวคิดของเวเบอร์นั้น ระบอบพ่อขุนอุปถัมถ์นั้นเป็นระบอบที่โตขึ้นมาจาก “ปิตาธิปไตย”ซึ่งพ่อหรือเพศชายป็นใหญ่ในสังคม หรือที่เวเบอร์เรียกว่าเป็นการครอบงำทางสังคม ระบอบปิตาธิปไตยมีลักษณะเด่นๆสามประการคือ ประการแรก อำนาจเป็นอภิสิทธิ์ส่วนตัวของผู้เป็นนาย ประการที่สอง บรรดาผู้อยู่ใต้อำนาจล้วนมีความสัมพันธ์กับนายเป็นการส่วนตัว และประการสุดท้าย อำนาจแบบปิตาธิปไตยเป็นอำนาจตามอำเภอใจ จะเห็นได้จากในขณะที่ฮิตเลอร์เถลิงอำนาจอยู่นั้น อำนาจเป็นอภิสิทธ์ส่วนตัวของฮิตเลอร์และเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจของฮิตเลอร์ ที่จะใช้อำนาจในการฆ่าล้างชาวยิว เพื่อผดุงรักษาไว้ซึ่งชนเผ่าอารยันชาติพันธุ์อันบริสุทธิ์ ซึงฮิตเลอร์มองว่าชนชาติยิวเป็นชนชาติที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากชาวเยอรมัน ดังนั้นจึงต้องกำจัดชาวยิวให้หมดไปเสีย

2.แรงบันดาลใจทางการเมือง
ตามแนวคิดของ เบิร์น เกี่ยวกับ เงื่อนไขที่มีอิทธิพลต่อลักษณะของความเป็นผู้นำ หนึ่งในนั้น คือ แรงบันดาลใจทางการเมือง สามารถนำมาอธิบายเงื่อนไขความเป็นผู้นำทั้งคานธีและฮิตเลอร์ได้ กล่าวคือ
แรงบันดาลใจทางการเมืองของมหาตม คานธี เริ่มต้นขึ้นในช่วงที่คานธีเดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษ คานธีมุ่งมั่นปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะยกระดับฐานะของตนเองให้เหมือนอย่างชาวอังกฤษ ทั้งการลอกเลียนแบบการแต่งกาย หัดเต้นรำ เล่นดนตรี และยังมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยตามอย่างอังกฤษ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถจะเป็นผู้ดีชาวอังกฤษได้ เนื่องจากเหตุการณ์สะเทือนใจที่คานธีเจอหลังจากเรียนจบ คานธีได้เดินทางไปเป็นทนายความในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นเมืองของอังกฤษความที่ไม่ทราบว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อชาวอินเดียในแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เขาจึงจองที่นั่งชั้นหนึ่งบนรถไฟไปยัง 'เพลย์โทเนีย' แต่สิ่งที่คานธีค้นพบคือ ไม่ว่าคานธีจะเรียนสูงเพียงใด ก็ยังถูกเหยียดผิวเหมือนชาวอาณานิคมทั่วไป จากสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ความมุ่งมาดปรารถนาส่วนตัวของคานธี ก็เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจทางการเมือง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การทำลายล้างความอยุติธรรม
สำหรับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แรงบันดาลใจทางการเมืองของฮิตเลอร์อยู่ที่ความปราถนาส่วนตัวของฮิตเลอร์เอง แม้ว่าเขาจะได้พูดถึงการกอบกู้ประเทศชาติ แต่ก็เป็นเพียงการหลอกตนเอง ฮิตเลอร์ได้เชื่อมโยงจุดหมายทางการเมืองทั้งปวงไว้กับฐานะการครอบงำของเขา ฮิตเลอร์มีปมด้อยบางอย่างที่ติดตัวมาตั้งแต่ในวัยเด็ก คือเขามองว่าการพ่ายแพ้ของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 ราวกับการที่มารดาของตนเองถูกข่มขืน และมองผู้รับผิดชอบในครั้งนั้นล้วนเป็นอาชญกรที่สมควรถูกลงโทษ ด้วยเหตุนี้ สภาพจิตใจทางการเมืองของฮิตเลอร์จึงปรากฏออกมาในเชิงที่ต้องการล้างแค้นและการแสดงอำนาจ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ฮิตเลอร์ได้ทำงานเป็นสายลับให้กับรัฐบาลและมีหน้าที่คอยสืบข่าวจากกลุ่มการเมือง จนกลายเป็นอาชีพเดียวที่เขาทำได้ดีและฮิตเลอร์ก็ตัดสินใจเข้าสู่วงการเมืองนับแต่นั้นเป็นต้นมา

3.โอกาสทางการเมือง
ตามแนวคิดของ เบิร์น เกี่ยวกับ เงื่อนไขที่มีอิทธิพลต่อลักษณะของความเป็นผู้นำ หนึ่งในนั้น คือ โอกาสทางการเมือง สามารถนำมาอธิบายเงื่อนไขความเป็นผู้นำทั้งคานธีและฮิตเลอร์ได้ กล่าวคือ
โอกาสทางการเมืองของคานธีเริ่มจากการที่คานธีมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ทำให้คานธีมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมากและมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเป็นตามอย่างชาวเมืองผู้ดี หลังจากคานธีศึกษาจบก็ได้มีโอกาสได้ไปทำงานเป็นทนายความที่แอฟริกาใต้ ที่แอฟริกานี่เอง คานธีก็ยังได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม มีการเหยียดผิวกัน ทำให้คานธีเกิดความรู้สึกไม่พอใจและจะต้องทำลายล้างความอยุติธรรม หลังจากเหตุการณ์นั้นทำให้คานธีเกิดแรงบันดาลใจจะลุกขึ้นต่อสู่กับชาวผิวขาว คานธีเริ่มจากการรณรงค์ให้ชาวอินเดียทอผ้าใช้เอง ไม่ซื้อสินค้าที่เป็นของชาวผิวขาว และกล้าที่ลุกขึ้นมาประท้วงโดยสันติวิธี ทำให้ชาวอินเดียเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวคานธีที่จะมาเป็นวีรบุรุษเพื่อมาปลดปล่อยชาวอินเดียให้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
ส่วนโอกาสทางการเมืองของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือโอกาสการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ใช้วิธีไต่เต้า เริ่มจากฮิตเลอร์เข้าไปสมัครเป็นทหารในกองทัพ และฮิตเลอร์ได้ผ่านสมรภูมิสงครามมาอย่างโชกโชน เริ่มหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ฮิตเลอร์มีโอกาสได้เข้าไปทำงานเป็นสายลับให้กับรัฐบาลและมีหน้าที่คอยสืบข่าวจากกลุ่มการเมืองต่างๆ จนกลายเป็นอาชีพเดียวที่ฮิตเลอร์ทำได้ดี ประกอบกับฮิตเลอร์เป็นคนที่มีวาทศิลป์ในการพูด ในการชักจูงทำให้คนอื่นคล้อยตามได้ ฮิตเลอร์มีโอกาสได้พูดความต้องการของเขาต่อสาธารณะ เรื่องการกำจัดชนชาวยิวให้หมดไปและการผดุงรักษาไว้ซึ่งชนชาติเยอรมันที่ยิ่งใหญ่ ความคิดของฮิตเลอร์ในขณะนั้นไปสอดคล้องกับความคิดดั้งเดิมของชาวเยอรมันที่รักในศักดิ์ศรีอย่างมาก ทำให้ฮิตเลอร์ได้รับการสนับสนุนจากชาวเยอรมัน

4.นักแสวงหาอำนาจและวีรชน
ตามแนวคิดของ Eugene E. Jennings ได้จำแนกผู้นำออกเป็น 2 ประเภทกว้างๆ คือ พวกที่เขาเรียกว่า The Prince กับพวก The Hero หรือพวกนักแสวงอำนาจกับวีรชน ซึ่งบุคลิกภาพทั้งสองแบบนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากแนวคิดของเจนนิ้งส์ สามารถนำมาวิเคราะห์บุคลิกภาพของทั้งคานธีและฮิตเลอร์ได้ กล่าวคือคานธี มีบุคลิกภาพผู้นำแบบวีรชน Hero กล่าวคือ ในทัศนะของเจนนิ้งส์ ผู้นำแบบวีรชน คือ คนที่พยายามเชิดชูความริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีแก่นสารแท้จริง ลักษณะสำคัญของผู้นำแบบนี้คือเป็นผู้ที่มีศักดิ์ศรีและความจริงใจ มีความรักเพื่อนมนุษย์และยึดมั่นในสัจธรรม จากลักษณะสำคัญดังกล่าวมีความสอดคล้องกับคานธีอย่างยิ่ง จะเห็นได้จาก คานธีเป็นผู้ที่รักศักดิ์ศรี รักความยุติธรรม ไม่ชอบเห็นการเบียดเบียน มีความรักเพื่อนมนุษย์และยึดมั่นในสัจธรรม คานธีมีความรักให้แก่ชาวอินเดียทุกคน ดังนั้นคานธีจึงพยายามที่จะปลดปล่อยชาวอินเดียให้เป็นอิสระจากชาวอังกฤษ ด้วยเหตุนี้คานธีจึงเป็นที่รักของชาวอินเดียทุกคน คานธียึดมั่นในสัจธรรมที่จะต่อสู้เรียนร้องความเป็นธรรมโดยสันติวิธี
ส่วนฮิตเลอร์ มีบุคลิกภาพผู้นำแบบนักแสวงหาอำนาจ The Prince กล่าวคือ ในทัศนะของเจนนิ้งส์ ผู้นำแบบนักแสวงหาอำนาจ คือ คนที่พยายามขยายอำนาจของตัวเองออกไปให้มากยิ่งขึ้น ลักษณะสำคัญของผู้นำแบบนี้ ประการแรก คือ คนที่มองอำนาจว่าเป็นจุดหมายในตัวมันเอง กล่าวคือ พวกเขาก็ไม่ได้คิดว่าคนส่วนใหญ่ต้องการอำนาจเหมือนกับตน หากต้องการเพียงความมั่นคงในชีวิตเพื่อที่จะดำเนินกิจกรรมเล็กๆน้อยๆไปตามใจชอบเท่านั้น หรือพูดง่ายๆคือ การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจเป็นเรื่องของคนส่วนน้อยซึ่งต้องการครอบงำผู้อื่น ดังนั้น จึงแทบจะตัดสินไม่ได้เลยว่าใครดีกว่าใครในทางศีลธรรม คนที่แสวงหาอำนาจย่อมไม่ยอมรับกติกาใดๆนอกจากกติกาของอำนาจเท่านั้น พูดง่ายๆนั่นก็คืออำนาจเป็นจุดหมายของตัวมันเอง ต้องยอมรับมันเท่านั้น ลักษณะสำคัญอีกประการ คือ นักแสวงอำนาจทุกคนถือเอาจุดหมายส่วนตัวมาก่อน ในขณะที่จุดหมายหรืออุดมคติของส่วนรวมเป็นเรื่องรองซึ่งเขาอาจจะเลือกยกย่องจุดหมายใดขึ้นมาเพื่อสร้างภาพทางการเมืองของตนเอง จากลักษณะสำคัญดังกล่าวมีความสอดคล้องกับฮิตเลอร์ จะเห็นได้จาก ฮิตเลอร์พยายามที่จะขยายอำนาจตัวเองออกไปจนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น เป็นผลมาจากความกระหายในอำนาจของฮิตเลอร์เอง ที่ถือเอาความต้องการส่วนตัวมาก่อน เป็นต้น

3.ชีวิตในวัยเด็กที่ส่งผลถึงพฤติกรรมในวัยผู้ใหญ่
คานธี
ชีวิตในวัยเด็กของคานธีเป็นคนที่มีร่างกายอ่อนแอ ปนไม่ค่อยชอบพูดมาก เป็นคนขี้อาย ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง เมื่อโรงเรียนเลิกก็มักจะรีบกลับบ้านเพราะกลัวคนอื่นจะมาหยอกล้อ และเขายังเป็นคนขี้ขลาด กลัวผี กลัวขโมยและสัตว์เลื้อยคลาน คานธีไม่กล้าที่จะมองประตูในเวลา
ค่ำและไม่ชอบนอนในที่มืดเพราะกลัวผีจะมาหลอก กลัวขโมยจะมาทำร้ายหรือกลัวสัตว์เลื้อยคลานจะมาขบกัดเอา บิดาของคานธีคือนายกรมจานท์ คานธี เป็นคนที่มีตำแหน่งหน้าที่สูงคือเป็นรัฐมนตรีของรัฐราชโกฏ เป็นคนไม่เคร่งศาสนา เป็นคนรักครอบครัว รักความซื่อสัตย์ มีความกล้าหาญ ใจคอกว้างขวางแต่โกรธง่าย ครั้งหนึ่งทูตอังกฤษเคยทำการดูหมิ่นเจ้าผู้ครองรัฐราชโกฏ บิดาคานธีได้ประท้วงการกระทำเช่นนั้น ทำให้ถูกอังกฤษสั่งขังจนกว่าจะขอขมา แต่บิดาคานธีไม่ยอมขอขมา อังกฤษจึงจำต้องปล่อย ซึ่งแสดงถึงความไม่ยอมคน ส่วนมารดาของคานธีนั้นเป็นคนที่เคร่งศาสนามาก มีจิตใจอ่อนไหวง่าย ครั้งหนึ่ง เวลาที่ลูกๆทำผิดมารดาของคานธีก็จะไม่ลงโทษลูก แต่จะบอกลูกๆว่าถ้าทำผิดอีกก็จะอดอาหาร ที่เล่ามานี้คือประสบการณ์ของคานธีในวัยเด็กซึ่งค่อนข้างจะผิดกับเด็กชาวอินเดียโดยทั่วไป เขาเป็นคนที่อ่อนแอขี้ขลาด ซึ่งเมื่อโตขึ้นเป็นผู้นำแล้วกลับกลายเป็นคนที่มีความเข้มแข็งมีความไม่เกรงกลัวแม้ศัตรูนั้นก็คืออังกฤษ ซึ่งข้อนี้อาจจะอธิบายว่าเป็นการที่คานธีชดเชยความรู้สึกที่ไม่มีศักดิ์ศรี ขาดความสำคัญหรือเป็นคนอ่อนแอในวัยเด็ก เหตุที่คานธีเป็นคนไม่ยอมแพ้แม้จะถูกจับเข้าคุกหลายครั้ง อาจจะเนื่องมาจากคานธีเห็นตัวอย่างจากบิดา ที่บิดาของเขานั้นไม่ยอมขอขมาทูตอังกฤษแม้จะถูกขังคุกก็ตาม ส่วนวิธีการที่คานธีต่อสู้กับอังกฤษโดยไม่ใช้กำลังนั้น คงมาจากที่มารดาของคานธีเป็นคนเคร่งศาสนาอย่างมาก ที่มารดาของคานธีใช้วิธีอดอาหารประท้วงเมื่อลูกๆไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน
ฮิตเลอร์
ฮิตเลอร์ในวัยเด็ก เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด แม้ว่าจะขี้เกียจอย่างมาก ในงานที่ต้องใช้เวลานานๆ เขาเป็นเด็กช่างฝัน มีเพื่อนไม่มากนัก เขาเป็นเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่นจากบิดาและมารดา แต่ฮิตเลอร์ก็ไม่ชอบให้ใครมาวิจารณ์พ่อของเขาในทางที่ไม่ดี แม่ของเขาแม้จะไม่ค่อยมีเวลาให้เขา แต่ก็จะคอยตามใจเขาทุกครั้งที่มีโอกาส ให้เขาในทุกๆสิ่งที่เขาต้องการ ว่ากันว่า การเอาใจอย่างเกินเหตุนี้เองประกอบในวัยเด็กฮิตเลอร์มีความเป็นผู้นำตามธรรมชาติ โดยเขามักจะนำเพื่อนๆทุกคนในสนามเด็กเล่นอยู่เสมอ จึงเป็นสาเหตุเมื่อโตขึ้นมาฮิตเลอร์จึงมีความเป็นผู้นำและสามารถก้าวไปสู่ความเป็นจอมเผด็จการ

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2550

อัตชีวประวัติของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์



อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.1889 เวลา 06.30 น. ที่ Braunau-am-Inn ในประเทศออสเตรีย บิดาของเขาชื่อ Alois Shiklgruber มารดาชื่อ Klara เป็นภรรยาคนที่ 3 ในวัยเด็ก เขาเป็นเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่นจากบิดาและมารดา แต่ฮิตเลอร์ก็ไม่ชอบให้ใครมาวิจารณ์พ่อของเขาในทางที่ไม่ดี แม่ของเขาแม้จะไม่ค่อยมีเวลาให้เขา แต่ก็จะคอยตามใจเขาทุกครั้งที่มีโอกาส ให้เขาในทุกๆสิ่งที่เขาต้องการ ว่ากันว่า การเอาใจอย่างเกินเหตุนี้เอง ที่เป็นสาเหตุของการก้าวไปสู่ความเป็นจอมเผด็จการแห่งยุคในที่สุด


ฮิตเลอร์ในวัยเด็ก เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด แม้ว่าจะขี้เกียจอย่างมาก ในงานที่ต้องใช้เวลานานๆ เขาเป็นเด็กช่างฝัน มีเพื่อนไม่มากนัก พรรคนาซีของเขามักจะทำการประชาสัมพันธ์อยู่เสมอว่า ฮิตเลอร์ในวัยเด็ก มีความเป็นผู้นำตามธรรมชาติ โดยเขามักจะนำเพื่อนๆทุกคนในสนามเด็กเล่นอยู่เสมอ อีกทั้งยังประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังว่า ฮิตเลอร์สนใจในการค้นคว้าประวัติศาสตร์ ซึ่งที่จริงแล้ว มีคนแย้งอยู่เสมอว่า เขาไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์การบุกรัสเซียของนโปเลียนเลยแม้แต่ผิวเผิน ทำให้เขาประสบกับความพ่ายแพ้ในรัสเซียเช่นเดียวกับนโปเลียน หนึ่งในวีรบุรุษที่เขาโปรดปราน


บิดาของฮิตเลอร์ตายในปี ค.ศ. 1903 ครอบครัวของเขาย้ายไปเมือง Linz ที่นี่ฮิตเลอร์ตัดสินใจเรียนวาดภาพ อย่างไรก็ตาม พรสวรรค์ในการวาดภาพของเขาได้ถูกทำลายลงด้วยการขาดความเพียรพยายามของเขา ปี ค.ศ. 1907 เขาไม่ประสบความสำเร็จในการสอบเข้าเรียนศิลปะที่สถาบัน Vienna ในช่วงที่เขากำพร้าพ่อ เขาก็ดูมีความสุขดีกับการอยู่กับแม่ของเขา แม้ว่าเขาจะเขียนในหนังสือเรื่อง การต่อสู้ของข้าพเจ้า (Mein Kampf) ว่า เขาต้องออกไปทำงานไกลๆ เพื่อหาเลี้ยงตัวเองก็ตาม (forced to go far from home to earn his bread) ในโรงเรียน ฮิตเลอร์ทำคะแนนตกหลายวิชา และถูกปฏิเสธที่จะให้เลื่อนชั้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งเขาตั้งใจที่จะไปเป็นศิลปินวาดภาพ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก ต่อมาเขาเลือกที่จะเรียนเปีนโน แล้วก็ถอดใจ เลิกเรียนอีก เขาย้ายมาเวียนนาเมืองหลวงของออสเตรีย (ฮิตเลอร์เป็นคนออสเตรีย ไม่ใช่คนเยอรมัน) ที่นี่เองที่เขาได้พบกับลัทธิชาตินิยม (Nationalism) และลัทธิการแบ่งแยกเชื้อชาติ (Racism) อันนำมาซึ่งสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มวลมนุษยชาติได้รู้จัก


ฮิตเลอร์อาสาสมัครเข้าร่วมรบกับกองทัพเยอรมันภายใต้การนำของพระเจ้าวิลเฮล์ม ไกเซอร์ (Kaiser) โดยอยู่ในกรมบาวาเรียนที่ 16 (the 16th Bavarian Regiment) ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งๆที่เขามีปัญหาด้านสุขภาพ ในกองทัพนี่เอง ที่ทำให้ชีวิตที่เพ้อฝัน และขาดการเอาจริงเอาจังของเขาเปลี่ยนไป เขากลายเป็นคนที่มีระเบียบวินัย สนุกสนาน ร่าเริง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ พร้อมที่จะรับภารกิจที่เต็มไปด้วยอันตราย จนได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 (the Iron Cross Second Class) ซึ่งภายหลังถูกยกระดับให้เป็นเหรียญชั้นที่ 1 เป็นที่น่าสังเกตุคือ เขาได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับเหรียญกล้าหาญนี้ โดยฝ่ายเสนาธิการประจำกรมของเขา ซึ่งเป็นคนยิว


ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้สิ้นสุดลง พร้อมๆกับความพ่ายแพ้ของเยอรมัน ฮิตเลอร์เองก็ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากการถูกโจมตีด้วยแก๊สพิษจากฝ่ายอังกฤษ เยอรมันถูกจำกัดในทุกๆด้าน ด้วยสนธิสัญญาแวซาย (The Treaty of Versailles) ฮิตเลอร์มีความเชื่อว่า ความพ่ายแพ้ของเขา และกองทัพเยอรมัน เกิดขึ้นมาจากศัตรูที่อยู่ภายใน (Enemy within) มากกว่า ความพ่ายแพ้ต่อกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร เขาเชื่อว่าศัตรูที่อยู่ภายในนั้น หักหลังประเทศเยอรมัน พวกนั้นก็คือ พวกยิว พวกคอมมิวนิสต์ หรือมาร์กซิส และพวกนักการเมือง สนธิสัญญาแวซายจำกัดทุกอย่าง กองทัพเยอรมันถูกลดลงเหลือเพียง 100,000 คน เศรษฐกิจของประเทศเยอรมันถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพที่สิ้นหวัง ในขณะเดียวกัน ลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็เริ่มประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากการล้มราชวงศ์โรมานอฟ ของพระเจ้าซาร์ในประเทศรัสเซีย และแผ่ขยายเข้าสุ๋เยอรมัน มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นในเยอรมัน ฮิตเลอร์ซึ่งสังกัดอยู่ในลัทธิชาตินิยมขวาจัด ได้นำกำลังเข้าโจมตีสหภาพแรงงานซึ่งเป็นหัวหอกของพวกคอมมิวนิสต์ ตลอดจนกลุ่มธุรกิจของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ผู้นำกลุ่มของฮิตเลอร์ในขณะนั้นคือ Anton Drexler ประกาศว่า พรรคชาตินิยมของเขาจะไม่มีชนชั้นเหมือนพวกคอมมิวนิสต์ เป็นองค์กรสังคมนิยมชาตินิยม (คอมมิวนิส๖์เองก็เป็นสังคมนิยมเช่นกัน แต่เป็นสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งอยู่ในซีกซ้ายจัด) มีการก่อตั้งลัทธิสังคมนิยมชาตินิยมขึ้น เรียกว่า National Socialist German Workers' Party หรือเขียนเป็นภาษาเยอรมันว่า National Sozialistische Deutsche Arbeiter Partei ภายหลังเรียกสั้น๐ว่า National Sozialist หรือ NAZI นั่นเอง


11 พ.ย. 1923 ฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีของเขาพยายามทำการปฏิวัติ แต่ไม่สำเร็จ เขาถูกจับพร้อมกับพรรคพวกของเขา เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่ Munich Putch เขาถูกจำคุก ด้วยโทษ 5 ปี แต่จริงๆ เขาถูกจำคุกเพียงแค่ 9 เดือนเท่านั้น หนังสือพิมพ์ต่างตีพิมพ์คำให้การ คำสัมภาษณ์ของเขา ที่ต้องการฟื้นฟูประเทศเยอรมัน ระหว่างที่ติดคุก เขาเขียนหนังสือชื่อ การต่อสู้ของข้าพเจ้า (Mein Kampf) ความพ่ายแพ้ของเขาในครั้งนี้ กลับทำให้เขาได้รับความนิยมมากขึ้น


ในเดือน พ.ค. 1927 ถึง 1928 ฮิตเลอร์ถูกห้ามกล่าวคำปราศรัยในที่สาธารณะ และในปี 1928 นี่เองที่ฮิตเลอร์เช่าวิลล่าที่ Obersalzberg ที่นี่เขาได้พบกับ Angela Raubal ซึ่งเข้ามาในฐานะแม่บ้าน ฮิตเลอร์ตกหลุมรักอย่างบ้าคลั่งกับเธอ บางทีอาจจะเป็นครั้งเดียวที่เขาตกหลุมรักในชีวิตของเขาทั้งชีวิต


พรรคนาซีเริ่มได้รับความนิยมอีกครั้งจากการนำทางของ Gregor Strasser ผู้ร่วมงานของฮิตเลอร์ ในขณะเดียว เออร์เนส โรห์ม (Ernest Rohm) คนสนิทของฮิตเลอร์ ก็ได้ก่อตั้งกองกำลัง SA (Strumabtielung) -สตุมอับไทลุง- เพื่อเป็นกองกำลังส่วนตัวของฮิตเลอร์


แต่โรห์ม เริ่มทำตัวเป็นเอกเทศ และมีทีท่าว่าจะไม่สามารถควบคุมได้ กองกำลัง SA เองก็ดูเหมือนจะเชื่อฟังโรห์ม มากกว่า ฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์จึงได้ตั้งไฮน์ริช ฮิมเลอร์ นักธุรกิจที่ร่างกายอ่อนแอ และล้มเหลว เป็นนักเพ้อฝัน จัดตั้งกองกำลังเอส เอส SS ขึ้น


ในที่สุด ฮิตเลอร์ก็ตัดสินใจทำลายองค์กร SA ในวันที่ 6 มิ.ย. 1934 ณ โณงแรม Tegernsee 50 ไมล์จากมิวนิค โรห์ม พร้อมกับเด็กหนุ่มคู่ขาของเขา (โรห์มเป็นเกย์ และใช้ SA ในการหาเด็กหนุ่มมาเป็นคู่ขา)ถูกจับ ทหารเอส เอส ได้รับคำสั่งจากฮิตเลอร์ ให้ยื่นโอกาสแห่งเกียรติยศด้วยการฆ่าตัวตายกับ โรห์ม ทหารเอส เอส วางปืนให้เขา แล้วออกมา เวลาผ่านไป 10 นาที โดยที่ไม่มีเสียงปืน ทหารเอส เอส จึงเดินเข้า แล้วจ่อยิงโรห์มจนเสียชีวิต พร้อมกันนั้น หัวหน้าหน่วย SA ก็ถูกจับตัว บ้างถูกขัง บ้างถูกสังหารโดยทหารเอส เอส ซึ่งได้ก้าวขึ้นมาแทนกองกำลัง SA


กองกำลังเอส เอส ถูกฝึกขึ้นมาเพื่อให้จงรักภักดีต่อฮิตเลอร์อย่างปราศจากคำถามใดๆทั้งสิ้น และเขาก็ภูมิใจในหน่วยนี้เป็นอย่างมาก


เดือนเม.ย. 1934 สุขภาพของประธานาธิบดีฮินเดนเบอร์ก (Hindenburg) ประธานาธิบดีเยอรมันในขณะนั้นไม่สู้ดีนัก เขาเสียชีวิตในวันที่ 2 สิงหาคม 1934 สามชั่วโมงหลังจากนั้น ฮิตเลอร์ได้ประกาศรวมตำแหน่งประธานาธิบดีและและนายกรัฐมนตรี (บางทีเรียกว่าอัครมหาเสนาบดี - Chancellor) เข้าด้วยกันและตั้งตัวเองเป็นประมุขของรัฐและผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือที่เรียกว่า ผู้นำ (Fuehrer) เยอรมันก้าวเข้าสู่ความเป็นเผด็จการสมบูรณ์แบบนับแต่นั้นเป็นต้นมาฮิตเลอร์มีรูปแบบการแต่งเครื่องแบบที่แตกต่างจากจอมเผด็จการอื่นๆ นั่นคือ เขาไม่นิยมติดเหรียญตรามากมาย เหรียญตราที่เขาติดมีอยู่อย่างเดียว คือ เหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) ซึ่งเขาได้รับจากการรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นเหรียญตราที่ได้มาด้วยความกล้าหาญ


ในขณะที่ฮิตเลอร์ขึ้นดำรงตำแหน่งนั้น เยอรมันกำลังอยู่ในสภาวะล้มละลาย เศรษฐกิจตกต่ำ คนว่างงานมากมายมหาศาล เมื่อเขาได้เป็นผู้นำ ระหว่างปี 1934 - 1938 เขาทำการสร้างและฟื้นฟูอุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างขนานใหญ่ มีการสร้างอาวุธ อย่างชนิดที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน การพัฒนาเป็นไปอย่างก้าวกระโดด เขาฉีกสนธิสัญญาแวซายทิ้งอย่างไม่เกรงกลัว ชาวเยอรมันต่างพากันยกย่องฮิตเลอร์ ในฐานะผู้ที่พลิกโชคชะตาของชาติ จากความล้มละลายกลับสู่ความเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง


ฮิตเลอร์ประกาศว่า อาณาจักรไรซ์ที่สามของเขาจะมีอายุยืนยาวนับพันปี


ในขณะเดียวกันเขาก็เริ่มสร้างความมั่นคงภายนอกเพื่อประวิงเวลาการรุกรานจากภายนอกออกไป ทำให้เยอรมันไม่ต้องพะวักพะวนกับสงครามที่อาจจะมีขึ้น และสามารถทุ่มเทให้กับการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มที่ เช่น เซ็นสนธิสัญญาไม่รุกรานกันและกันระหว่างเยอรมันกับโปแลนด์ เพื่อทำให้มั่นใจว่า โปแลนด์ซึ่งเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสจะไม่รุกรานเยอรมัน หากเยอรมันรบกับฝรั่งเสส หรือในกรณีที่เยอรมันบุกฝรั่งเศส


ในเดือนมีนาคม 1935 ฮิตเลอร์เริ่มสร้างกองทัพอย่างขนานใหญ่ กองทัพอากาศ หรือ Luftwaffe ได้ถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นทางการ จริงๆแล้วเยอรมันมีการฝึกนักบินมาล่วงหน้านี้อย่างลับๆมากว่าสองปีแล้ว ในนามนักบินพลเรือน


ขณะเดียวกันชาวเยอรมันที่อยู่ในออสเตรีย โปแลนด์ และเชคโกสโลวาเกียต่างก็พากันสนับสนุนรัฐบาลให้เข้าร่วมกับเยอรมัน


วันที่ 27 ก.พ. 1936 ฮิตเลอร์เซ็นสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมัน กับรัสเซีย เพื่อสร้างความมั่นใจว่า สงครามทางด้านรัสเซียจะไม่เกิดขึ้น ในขณะที่เยอรมันยังไม่พร้อม


ขณะเดียวกัน กองทัพเยอรมันก็กำลังเตรียมการครั้งใหญ่สำหรับสงคราม กรมทหารใหม่ถูกจัดตั้งขึ้น ทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกเรียกเข้ามาเป็นครูฝึกให้กับทหารใหม่


วันที่ 7 มี.ค. 1936 ฮิตเลอร์เคลื่อนกำลังเข้ายึดครอง Rhineland โดยอังกฤาและฝรั่งเศสไม่มีการต่อต้าน และเป็นการพิสูจน์ว่า สนธิสัญญาแวซายที่จำกัดสิทธิทุกอย่างของเยอรมัน ได้ถูกฉีกทิ้งอย่างสิ้นเชิงโดยเยอรมัน และสันนิบาตชาติ (League of Nations) หมดสิ้นอำนาจลงอย่างสิ้นเชิง


ขณะเดียวกัน กองทัพเยอรมันได้เพิ่มจำนวนถึงกว่าหนึ่งล้านคน ฮิตเลอร์เริ่มมั่นใจมากขึ้นว่า ไม่ว่าอังกฤษ หรือฝรั่งเศส หรือใครก็ตาม ไม่สามารถหยุดยั้งอาณาจักรไรซ์ที่สามได้อีกแล้ว


เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ได้ประกาศเตือนโลกว่า สงครามกำลังใกล้เข้ามา อันตรายรออยู่ข้างหน้า แต่ผู้คนที่หวาดกลัวสงคราม ต่างก็พยายามทำเป็นไม่ได้ยินเสียงเตือนนี้ โดยเชื่อว่า กาประนีประนอมกับเยอรมัน จะทำให้โลกพ้นจากสงครามได้


ต่อมาเกิดสงครามกลางเมืองในสเปน ฮิตเลอร์ไม่รอช้าที่จะส่งรถถัง เครื่องบิน และช่างเทคนิค เข้าไปช่วยในนาม คอนดอร์ (Condor Legion)


ฮิตเลอร์ส่งกองทัพ Condor Legion เข้าไปสนับสนุนสงครามกลางเมืองในสเปน ฝ่ายของนายพลฟรังโก จุดประสงค์ก็เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับกำลังพลของเขา ในขณะเดียวกันอิตาลี ภายใต้การนำของจอมเผด็จการมุสโสลินี ก็ส่งทหารเข้าร่วมกับนายพลฟรังโก กว่า หกหมื่นคน


กองทัพอากาศเยอรมัน (Luftwaffe) ได้ทำการทดลองการใช้เครื่องบินแบบสตูก้า (Stuka) ในการดำทิ้งระเบิด เพื่อพัฒนาเทคนิคต่างๆ เมื่อนำมาใช้ในการเตรียมการรุกแบบสายฟ้าแลบที่เยอรมันได้เตรียมการไว้


ภายหลังสงครามกลางเมืองในสเปน กล่าวกันว่า กองทัพอากาศเยอรมันมีนักบินที่มีประสบการณ์มากกว่าชาติใดๆในโลกทีเดียว


การร่วมกันในสงครามกลางเมืองในสเปน ยังทำให้อิตาลีเข้ามาร่วมเว็นสัญญาเป็นฝ่ายอักษะกับเยอรมันในวันที่ 21 ต.ค. 1936 ทั้งๆที่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 อิตาลีอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเยอรมัน แผนการดึงอิตาลีออกจากฝ่ายสัมพันธมิตรของฮิตเลอร์ประสบความสำเร็จเกินคาด


ในเดือน พ.ย. ปีเดียวกัน เยอรมันก็เซ็นสัญญา Anti-Comintern กับญี่ปุ่น เพื่อเป็นการรับประกันว่า ญี่ปุ่นจะไม่ทำสัญญาใดๆกับรัสเซีย โดยปราศจากการยินยอมของคู่สัญญา โลกได้เกิดฝ่ายอักษะขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นคือ เยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น


วันที่ 30 ม.ค. 1937 ฮิตเลอร์ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาไรซ์สตาร์ค (Reichstag) ว่า เป้าหมายของเขาไม่ได้อยู่ที่สงคราม หากแต่อยู่ที่การสร้างชาติเยอรมัน การยกระดับความอยู่ดีกินดีของชาวเยอรมัน การสร้างความมั่นใจให้กับชาวเยอรมันในชีวิตและความเป็นอยู่ รวมไปถึงการสร้างความเป็นมหาอำนาจทางทหารทั้งทางบก เรือและอากาศของเยอรมัน


ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 1937 ฮิตเลอร์อุทิศเวลาให้กับการสร้างความสัมพันธ์กับอิตาลี มุสโสลินีตกลงที่จะเดินทางมาเยือนเยอรมันเป็นครั้งแรก


ในปี 1938 นายกรัฐมนตรีของออสเตรียได้รับเชิญให้ไปเยือนเยอรมัน ฮิตเลอร์เรียกร้องให้มีการรวมประเทศ(anexation) Schuschnigg นายกรัฐมนตรีของออสเตรีย ไม่กล้าให้คำตอบ ฮิตเลอร์สั่งการให้กองทัพอากาศเตรียมการโจมตี


รัฐสภาออสเตรีย ทำการขอมติประชาชนชาวออสเตรียว่าจะผนวกดินแดนกับเยอรมันหรือไม่ (ฮิตเลอร์เกิดในออสเตรีย และในออสเตรียก็มีชนชาวเยอรมันเป็นจำนวนมาก) แม้จะมีเสียงคัดค้าน วันที่ 11 มีนาคม 1938 ฮิตเลอร์เรียกร้องให้มีการรวมประเทศ วันต่อมา กองทัพเยอรมันก็ยาตราเข้าสู่ออสเตรีย ประกาศผนวกดินแดนภายใต้ชื่อ Anschluss แท้ที่จริงแล้ว ผลการออกเสียง ชาวออสเตรียลงคะแนน 99 เปอร์เซนต์ให้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมัน นับการรวมดินแดนที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้ออีกครั้งหนึ่งของฮิตเลอร์เมื่อทหารเยอรมันกรีธาทัพเข้าไปในออสเตรีย ชาวยิวจำนวนมากถูกจับ ค่ายกักกันที่ Mauthausen ได้ถูกจัดตั้งขึ้น และสังหารชาวยิวไปถึง 35,318 คน จนสิ้นสุดสงครามฮิตเลอร์เริ่มมองไปที่เชคโกลโลวาเกียเป็นเป้าหมายต่อไป ในขณะเดียวกัน ชาวเยอรมันต่างก็พากันชื่นชมความสำเร็จของฮิตเลอร์และพรรคนาซีของเขา โดยเฉพาะการขยายดินแดนโดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ อะไรจะน่าภาคภูมิใจไปกว่า การขยายดินแดนโดยไม่มีการสู้รบ และการสูญเสีย


ในวันที่ 28 มีนาคม 1938 ผู้นำนาซีในซูเดเตน คอนราด เฮนไลน์ (Konrad Henlein) เข้าพบฮิตเลอร์ ในขณะนั้นซูเดเตนเป็นส่วนหนึ่งของเชคโกสโลวะเกีย และเชคโกสโลวะเกียเอง ก็ปกครองโดยชนกลุ่มน้อย ในขณะที่ชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ เป็นชาวเยอรมัน ฮิตเลอร์บอกคอนราด ให้เรียกร้องต่อรัฐบาลเชคโกสโลวะเกียว่า ชาวซุเดเตนต้องการปกครองตนเอง ซึ่งทุกฝ่ายต่างก็รู้ว่า ข้อเรียกร้องนี้รัฐบาลเชค ไม่สามารถจะยอมรับได้


ในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 1938 อังกฤษและฝรั่งเศส ขอให้รัฐบาลเชค มอบซูเดเตนให้กับเยอรมัน เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งที่อาจจะมีขึ้น ฮิตเลอร์ยินดีกับการเรียกร้องดังกล่าว พร้อมๆกับให้สัมภาษณ์ถึงความแข็งแกร่งของกองทัพเยอรมันที่เรียงรายอยู่ตามแนวชายแดนเชคโกสโลวะเกีย


ปลายเดือนพฤษภาคม ฝ่ายข่าวกรองอังกฤษเชื่อว่า เยอรมันเตรียมพร้อมที่จะบุกเชคโกสโลวะเกีย ในขณะที่รัฐบาลเชคเอง ก็พร้อมที่จะสู้ มาถึงตอนนี้ ฮิตเลอร์ถอยหลังมาหนึ่งก้าว พร้อมประกาศว่า เยอรมันไม่มีความตั้งใจที่จะใช้ความรุนแรงในกรณีซูเดเตน ทั้งลอนดอนและปารีส ต่างพอใจกับการสั่งสอนฮิตเลอร์ในครั้งนี้ โดยหารู้ไม่ว่าแผนขั้นต่อไปของฮิตเลอร์พร้อมอยู่แล้ว


แผนการโจมตีเชคโกสโลวะเกียถูกวางไว้ ให้เปิดฉากในวันที่ 1 ตุลาคม 1938 ขณะที่ฝ่ายเสนาธิการของเยอรมันก็ขัดแย้งกันเองอย่างหนัก โดยอีกฝ่ายหนึ่งเกรงว่าการบุกเชคโกสโลวะเกีย จะทำให้เกิดสงครามกับอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะอังกฤษคงไม่ยอมให้เยอรมันครอบครองซูเดเตน โดยปราศจากการต่อสู้


เดือนมิถุนายน นายกรัฐมนตรีเนวิล แชมเบอร์เลน (Naville Chamberlain) ของอังกฤษในขณะนั้น กลับแสดงท่าทีออกมาว่า ประชาชนในซูเดเตนส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน จึงไม่สมควรที่อังกฤษจะเข้าไปก้าวก่ายปัญหาในซูเดเตน ฮิตเลอร์บินไปพบแชมเบอร์เลนถึงอังกฤษ แชมเบอร์เลนรับประกันถึงการที่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหาอาจจะมีขึ้นได้ หากรัสเซียสนับสนุนเชคโกสโลวะเกีย เมฆหมอกแห่งสงครามปกคลุมไปทั่วยุโรป ทุกฝ่ายคาดกันว่า การบุกของเยอรมันจะนำมาซึ่งสงคราม เด็กนักเรียนในลอนดอน และปารีส เตรียมการอพยพ หน้ากากกันแก๊สพิษถูกนำออกมาแจกจ่าย


อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ได้แสดงออกมาว่า เวลานี้ยังไม่ใช่เวลาในการเปิดสงครามของนาซี เนื่องจากเขาตระหนักดีว่า เยอรมันยังไม่พร้อมกับสงครามครั้งนี้ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ต้องการซูเดเตน โดยปราศจากสงคราม ปัญหาก็คือ เขาจะทำอย่างไร


ช่วงนี้เยอรมันและอิตาลีต่างร่วมกันเดินเกมทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างสุดความสามารถ โดยเฉพาะการแสดงออกมาว่า ซูเดเตนคือเป้าหมายสุดท้ายของฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้ต้องการสงคราม เช่นเดียวกับชาติยุโรปอื่นๆ ที่ต้องการสันติ จนในที่สุดเมื่อเวลา 0100 ของวันที่ 30 กันยายน 1938 อังกฤษและฝรั่งเศสก็ตกลงกันในข้อตกลงมิวนิค (the Munich Agreement) ที่จะมอบทุกสิ่งที่ฮิตเลอร์ต้องการ เพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม โดยจะยินยอมมอบดินแดน 10,000 ตารางไมล์ให้ ส่งผลให้เชคโกสโลวะเกียสูญเสียแหล่งถ่านหิน 66 เปอร์เซนต์ของตน พร้อมทั้งอีก 70 เปอร์เซนต์ของแหล่งพลังงานไฟฟ้า 86 เปอร์เซนต์ของแหล่งเคมี 70 เปอร์เซนต์ของแหล่งแร่เหล็ก


แชมเบอร์เลนกลับไปยังกรุงลอนดอน พร้อมด้วยถ้อยวาจาอมตะที่ว่า "สันติภาพในเวลาของเรา" (Peace in our time) เขาไม่รู้เลยว่า ในขณะที่เขากำลังตกลงกับฮิตเลอร์ที่มิวนิคนั้น ฮิตเลอร์ได้ตกลงกับมุสโสลินี ผู้นำอิตาลีว่า เมื่อเวลาแห่งสงครามมาถึง เยอรมันและอิตาลี จะร่วมกันต่อสู้กับอังกฤษ และฝรั่งเศส


ในที่สุดเยอรมันก็เข้าครอบครองซูเดเตน ตามด้วยการเข้าผนวกเชคโกสโลวะเกียทั้งประเทศ รัฐบาลเชคต่อสู้อย่างสิ้นหวัง โดยปราศจากความช่วยเหลือจากโลกภายนอก 15 มีนาคม 1939 ฮิตเลอร์ส่งทหารเข้ายึดโบฮีเมีย (Bohemia) และมอราเวีย (Moravia) และรุกเข้าสู่กรุงปราค (Prague) ยึดปราสาทโบราณของกษัตริย์โบฮีเมีย เป็นที่พำนักของฮิตเลอร์ ตามมาด้วยการเข้ายึดสโลวะเกียใน 16 มีนาคม 1939 เป็นอันว่า ด้วยกลยุทธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่ยอดเยี่ยมของฮิตเลอร์ เชคโกสโลวะเกียก็ถูกครอบครองโดยเยอรมันในที่สุด และสุดท้ายหากใครได้อ่านหนังสือเรื่อง การต่อสู้ของข้าพเจ้า ของฮิตเลอร์ ก็จะทราบว่า เป้าหมายต่อไปของฮิตเลอร์ คือ โปแลนด์ นั่นเอง


ปี ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์ให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศเป็นอย่างมาก เขาแสดงถึงความเป็นอัจฉริยะบนหมากกระดาน แห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เขาสามารถทำให้มหาอำนาจของโลก ต้องรอฟังคำปราศรัยแต่ละครั้งของเขา อย่างใจจดใจจ่อ


14 เม.ย. หลังจากอิตาลีส่งทหารรุกเข้าสู่อัลบาเนีย ประธานาธิบดีรูสเวลท์ (Roosevelt) ของสหรัฐอเมริกา ได้แสดงสุนทรพจน์ถึงฮิตเลอร์ เรียกร้องให้ฮิตเลอร์รับประกันว่า เยอรมันไม่มีความต้องการดินแดนในยุโรปมากกว่าที่เป็นอยู่ ฮิตเลอร์ตอบรูสเวลท์ ด้วยสุนทรพจน์ในรัฐสภาไรซ์สตาคของเยอรมัน กล่าวกันว่า สุนทรพจน์นี้ เป็นหนึ่งในยอดสุนทรพจน์ของฮิตเลอร์เท่าที่เคยแสดงมา เขาเปรียบเทียบพื้นที่การอยู่อาศัย (lebensraum - living space) ในสหรัฐอเมริกาว่า แม้อเมริกาจะมีประชากรมากกว่าเยอรมัน เพียงหนึ่งในสาม แต่ก็มีพื้นที่อยู่อาศัยมากกว่า เยอรมันถึงสิบห้าเท่า พื้นที่ที่กว้างใหญ่นี้ มิใช่ได้มาด้วยการเจรจาบนโต๊ะเจรจา หากแต่ได้มาด้วยการยึดครองและสงคราม (by occupation and war) ฮิตเลอร์กล่าวอีกว่า ข่าวลือที่ว่าเยอรมันจะบุกสหรัฐนั้น ไม่เป็นความจริง และเป็นข่าวที่ผิดพลาด


ในระยะนี้ ฮิตเลอร์มีชื่อเสียงมาก เขาสามารถครอบครองดินแดนต่างๆ โดยแทบจะไม่ต้องสูญเสียอะไรเลย สิ่งที่เขามองเป็นก้าวต่อไป ก็คือ โปแลนด์ โดยมองไปที่ดานซิก (Danzig) ซึ่งตามสนธิสํญญาแวร์ซาย กำหนดให้ดานซิก ซึ่งเคยเป็นของเยอรมันมาก่อน กลายเป็นเมืองเปิด เยอรมันและโปแลนด์มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้า ออก ฮิตเลอร์เรียกร้องให้โปแลนด์คืนดานซิกให้กับเยอรมัน คำตอบจากโปแลนด์คือ คำตอบปฏิเสธ พร้อมทั้งมีสํญญาณให้เยอรมันเห็นว่า โปแลนด์พร้อมจะสู้


อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความแปลกใจให้กับฮิตเลอร์ก็คือ อังกฤษประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า จะช่วยปกป้องโปแลนด์ หากถูกเยอรมันโจมตี แต่อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ยังเชื่อว่า แชมเบอร์เลน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษนั้น อ่อนแอเกินกว่าที่จะเข้าร่วมในสงครามหากเขาบุกโปแลนด์


ฮิตเลอร์รู้ดีว่า ถ้าเขาสามารถโดดเดี่ยวโปแลนด์ออกจากอังกฤษ และฝรั่งเศสได้ การเข้าครอบครองโปแลนด์ของเยอรมันจะไม่เกิดปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะแสนยานุภาพของนาซีเยอรมันในขณะนั้น กองทัพโปแลนด์ไม่อาจจะต้านทานได้เลย ปัญหาอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้อังกฤษเข้ามายุ่งเกี่ยวในปัญหานี้



เดือนเมษายน 1939 รัสเซียยื่นข้อเสนอไปยังอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อขอทำสนธิสัญญาสามฝ่าย คือ รัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศส ในการร่วมมือทางทหาร หากโปแลนด์ถูกโจมตีจากเยอรมัน แต่อังกฤษปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวของรัสเซีย การปฏิเสธดังกล่าว เท่ากับเป็นการยืนยันสมมติฐานของฮิตเลอร์ที่ว่า อังกฤษจะพยายามทุกวิถีทาง ที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงคราม


เมื่ออังกฤษปฏิเสธข้อเสนอของตน รัสเซียซึ่งนำโดยโมโลตอฟ (Molotov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ ก็ยื่นข้อเสนอมายังเยอรมัน เพื่อขอทำสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน (a Mutual Non-Aggression Pact) ฮิตเลอร์มองวัตถุประสงค์ของสตาลิน ผู้นำรัสเซียออกว่า การยื่นข้อเสนอมายังเยอรมันนั้น ก็เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกับเยอรมัน และเพื่อหาโอกาสเข้าครอบครองดินแดนในยุโรปตะวันออก หากเกิดสงครามขึ้น เพราะหากรัสเซียเข้าครอบครองดินแดนใด เยอรมันก็ไม่สามารถขัดขวางได้ เพราะต่างมีสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน


ฮิตเลอร์นั้นยังคงจำประสบการณ์การลงนาม ในสนธิสัญญาร่วมกันทางทหาร ระหว่างเยอรมันกับอิตาลีได้ดีว่า มุสโสลินี ผู้นำอิตาลีได้คัดค้านการลงนามของฝ่ายอิตาลี เนื่องจากเกรงว่า อิตาลีจะถูกชักนำเข้าไปสู่สงครามร่วมกับเยอรมัน แต่ฮิตเลอร์ก็ต้องการหลักประกันความมั่นคง ทางชายแดนตอนใต้ของยุโรป จึงส่งริบเบนทรอป (Ribbentrop) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมันไปเกลี้ยกล่อมมุสโสลินี โดยให้เหตุผลว่า เยอรมันก็ต้องการสันติภาพเช่นกัน เพียงแต่รอให้สถานการณ์ในฉนวนดานซิกยุติลงก่อน มุสโสลินีถึงยินยอมให้เคาน์ ซิอาโน (Count Ciano) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิตาลี ลงนามในสนธิสัญญาเหล็ก (the Pact of Steel) ในกรุงเบอร์ลินของเยอรมัน เมื่อ 21 พฤษภาคม 1939


เมื่อฮิตเลอร์จัดการปัญหาทางใต้ได้แล้ว เขาก็ต้องการความมั่นคงทางชายแดนด้านรัสเซีย อย่างน้อยตอนนี้ ก็ยังไม่ถึงเวลาที่เยอรมันจะรบกับรัสเซีย ในวันที่ 22 สิงหาคม 1939 ฮิตเลอร์ก็ส่งริบเบนทรอปไปมอสโคว์ เมืองหลวงของรัสเซีย เพื่อร่วมลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน ระหว่างเยอรมันกับรัสเซีย ในวันที่ 23 สิงหาคม ท่ามกลางความงุนงงของโลก เพราะต่างรู้ดีว่า นาซีเยอรมันนั้นเป็นศัตรูกับคอมมิวนิสต์อย่างสิ้นเชิง เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ถึงกับกล่าวว่า สนธิสัญญานี้ไม่ใช่สนธิสัญญาธรรมดาแน่นอน


เมื่อจัดการทางด้านรัสเซียเรียบร้อยแล้ว ฮิตเลอร์ก็ส่งข้อเสนอไปยังอังกฤษ ผ่านทางเอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำกรุงเบอร์ลินว่า เยอรมันจะรับรองความปลอดภัยของเครือจักรภพอังกฤษ และจะจำกัดการเติบโตทางทหารของเยอรมัน หากอังกฤษสัญญาจะไม่เข้าร่วมในปัญหาโปแลนด์ อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนั้นเอง ขณะที่ฮิตเลอร์กำลังพบกับเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศส เขาก็ได้ข่าวว่า อังกฤษได้ลงนามความร่วมมือทางทหารกับโปแลนด์ ในกรณีที่คู่สัญญาถูกรุกรานที่กรุงลอนดอนแล้ว เป็นอันว่าความพยายามที่จะโดดเดี่ยวโปแลนด์ของเขาไร้ผล แผนการที่จะบุกโปแลนด์ในวันที่ 26 สิงหาคม 1939 ก็หยุดชะงักลงไปด้วยเช่นกัน


หลังจากที่อังกฤษลงนามความร่วมมือทางทหารกับโปแลนด์ ฮิตเลอร์มีความเครียดเป็นอย่างมาก คนใกล้ชิดถึงกับกล่าวว่า เขาดูแก่ลง เก็บตัวเงียบ นั่งครุ่นคิดอยู่คนเดียวเป็นเวลานานๆ จากอาการดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า เขาไม่ต้องการสงคราม ไม่ต้องการให้เกิดการล้มตาย แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ต้องการครอบครองโปแลนด์ หรืออาจจะครอบครองทั้งยุโรป โดยที่ไม่มีสงคราม ซึ่งในความเป็นจริงนั้น มันเป็นไปไม่ได้


สาเหตุ 3 อย่างที่สร้างความเครียดให้กับฮิตเลอร์ในช่วงนี้ คือ 1. แรงกดดันจากอังกฤษที่มีต่อเยอรมัน เกี่ยวกับปัญหาในโปแลนด์ เพื่อป้องกันการขยายตัวของสงคราม 2. ฮิตเลอร์กำลังพยายามหาเงื่อนไข ที่จะขจัดความร่วมมือทางทหารระหว่างอังกฤษและโปแลนด์ 3. ท้ายที่สุด ในกรณีที่หาทางออกอื่นใดไม่ได้ ฮิตเลอร์ต้องการพิชิตโปแลนด์ให้ได้เร็วที่สุด โดยใช้ สงครามสายฟ้าแลบ (Lightning war - Blitzkrieg) เพื่อให้การรบยุติลงก่อนที่อังกฤษและฝรั่งเศสจะส่งกำลังเข้ามาช่วย หรือเปิดแนวรบตามชายแดนเยอรมัน ฝรั่งเศส


ฮิตเลอร์ขบคิดปัญหาทั้งสามข้อตลอดเวลา 9 วันก่อนการบุกโปแลนด์ วันที่ 27 สิงหาคม 1939 ฮิตเลอร์ประกาศเส้นตายในการบุกโปแลนด์ว่าคือวันที่ 1 กันยายน 1939 ครั้นพอวันที่ 28 กันยายน อังกฤษก็ตอบปฏิเสธข้อเสนอของฮิตเลอร์ ที่จะรับประกันความปลอดภัยของเครือจักรภพอังกฤษ เพื่อแลกกับการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในปัญหาโปแลนด์ของอังกฤษ พร้อมกันนี้อังกฤษได้เปิดช่องทางออกให้เยอรมันว่า อังกฤษพร้อมที่จะเจรจากับเยอรมันในปัญหาดังกล่าว


ฮิตเลอร์แปลความหมายในการเสนอทางออกของอังกฤษโดยการเจรจาผิดพลาด เขามองว่าอังกฤษกำลังจะส่งสัญญาณว่า อังกฤษจะเจรจามากกว่าการทำสงคราม หากโปแลนด์ถูกโจมตี อันเป็นการยืนยันถึงความคิดของฮิตเลอร์ที่มองว่า แชมเบอร์เลน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษนั้น อ่อนแอเกินกว่าที่จะนำประเทศเข้าสู่สงคราม มันเป็นความผิดพลาดของฮิตเลอร์ครั้งใหญ่ และผู้ที่จะได้รับผลกรรมจากการตัดสินใจผิดพลาดครั้งนี้คือ มวลมนุษยชาติทั้งโลก ที่จะต้องเผชิญกับมหาสงครามโลกครั้งที่สอง มหาสงครามแห่งการทำลายล้างครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยประสบมา


เมื่อใกล้ถึงเส้นตาย ฮิตเลอร์ประกาศให้โปแลนด์ยอมแพ้ ก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้นแก่ประเทศโปแลนด์ รัฐบาลโปแลนด์ปฏิเสธ โดยหวังว่า อังกฤษและฝรั่งเศสจะส่งทหารเข้าช่วยตนเอง หากเยอรมันเปิดฉากบุกโปแลนด์
และแล้วในรุ่งอรุณของวันที่ 1 กันยายน 1939 การบุกของเยอรมันก็เปิดฉากขึ้น ยานเกราะจำนวนมากมาย พร้อมทหารราบรุกข้ามพรมแดนเข้าสู่โปแลนด์ ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศเยอรมันหรือลุฟวาฟ (Luftwaffe) กองทหารโปแลนด์ต่อสู้อย่างสุดกำลัง แต่ด้วยประสิทธิภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ต่างกันลิบลับ ทหารโปแลนด์จึงถูกกวาดล้างไปจากแนวรบอย่างไม่ยากเย็นนัก
ฮิตเลอร์รอคอยอย่างใจจดใจจ่อต่อปฏิกริยาของอังกฤษและฝรั่งเศส จนกระทั่งเวลา 0900 น. ของวันที่ 3 กันยายน 1939 เขาก็ได้รับข่าวจากลอนดอนว่า อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมันแล้ว ความวิตกของฮิตเลอร์เป็นความจริง ข่าวนี้แพร่ไปทั่วเยอรมัน ประชาชนต่างฟังข่าวด้วยความเงียบงัน ไม่มีใครต้องการให้สงครามเกิดขึ้น ไม่มีแม้แต่คนเดียว ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่เป็นสาเหตุของสงครามในครั้งนี้อย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์










อัตชีวประวัติของมหาตมคานธี

โมฮันดาส เค. คานธี เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1869 เขาถือกำเนิดขึ้นในดินแดนอันลี้ลับและเก่าแก่ เขามองชีวิตของตนเป็นดั่งการแสวงความจริงอันสูงสุด เป็นการวิวัฒน์ที่ไม่หยุดยั้ง การแสวงหาวิธีคิดและการใช้ชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไป เขาเรียกอัตชีวประวัติของตัวเองว่า "เรื่องราวการทดลองสัจธรรมของข้าพเจ้า" การเดินทางอันยาวนานไปสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านของตัวตนเขาเริ่มขึ้นในปี 1869 จากบ้านของชนชั้นกลางในเมืองท่าของอินเดียที่ชื่อ 'ปอเวนเดอร์'



ตั้งแต่เด็กนั้น...คานธีได้รับการปลูกฝังแบบอย่างของความเป็นคนที่มีวินัยและการอุทิศตนอย่างเคร่งครัด มารดาของเขาซึ่งเป็นผู้ที่เคร่งในศาสนามาก มักถือศีลอดอาหารเป็นเวลานานอยู่เนืองๆ ครั้งหนึ่งในฤดูฝน นางปฏิญาณตนว่าจะไม่กินอะไรเลยจนกว่าพระอาทิตย์จะขึ้น



เขาและสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวจะเฝ้ามองดูทางหน้าต่าง พวกเขาต้องการให้แม่กินอาหาร เพราะแม่กำลังอด แต่แม่ท่านบอกว่าไม่ต้องห่วง ท่านสบายดีทุกอย่าง ถ้าหากพระเป็นเจ้าไม่ต้องการให้ท่านกินในวันนี้ ท่านก็จะไม่กิน



เขาศรัทธาความเคร่งของแม่ แต่ยังไม่พร้อมจะทำตาม...


ความที่เป็นลูกคนเล็กในบรรดาพี่น้อง 4 คน เขาจึงใช้ชีวิตวัยเด็กแบบเกเร อย่างเช่น ขโมยเศษเงินไปซื้อบุหรี่ แต่ด้วยความกลัวบิดา ซึ่งเป็นนักการเมืองผู้มีชื่อเสียงของท้องถิ่น เขาจึงรับสารภาพว่าตนเป็นผู้ขโมย แต่แทนที่บิดาจะลงโทษ ท่านกลับโอบกอดเขา ในฐานะที่กล้าพูดความจริง แล้วทั้งสองคนก็ร้องไห้ด้วยกัน



เขาบันทึกไว้ในชีวประวัติว่า น้ำตานั้นเป็นเหมือนที่สิ่งที่ชำระล้างความสกปรกของจิตใจออกไป ถ้าคุณสร้างวินัยแบบนี้โดยผ่านทางความรัก มันเท่ากับสร้างมนุษยธรรมขึ้นในจิตใจ และนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคานธี



เมื่อ...อายุได้ 13 ปี เพื่อทำตามประเพณีของชาวฮินดู คานธีจึงเข้าพิธีสมรสกับเด็กสาวอายุเท่ากันที่ชื่อ คาสตวา ในช่วงแรกเขาเป็นสามีขี้หึงและเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ



เมื่ออายุ 16 ปี เขาเผชิญกับความขัดแย้งอันยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรก ระหว่างหน้าที่กับความปรารถนา ในคืนหนึ่ง...ขณะพยาบาลบิดาที่ป่วยอยู่ เขาก็แอบหนีขึ้นไปหลับนอนกับภรรยา ตอนนั้นเองที่พ่อของเขาเสียชีวิตลง คนใช้มาแจ้งให้ท่านทราบว่าคุณพ่อเสียชีวิตแล้ว สำนึกแรกของเขาบอกว่า ตายแล้ว...เราทำอะไรลงไป... นับตั้งแต่นั้นมาคานธีมักจะพูดถึงเหตุการณ์นั้นตอนที่ท่านละทิ้งพ่อ เวลาที่ท่านไม่ทำหน้าที่ของท่านให้ดีอยู่เสมอ แล้วมันก็กลายเป็นสำนึกในเรื่องของหน้าที่และความรับผิดชอบของเขา



เมื่ออายุ 17 ปี คานธีทิ้งภรรยาและครอบครัวไว้เบื้องหลัง เพื่อเข้าเรียนกฎหมายที่กรุงลอนดอน ด้วยความขลาดเขลาและไร้เดียงสา เขารู้สึกว่าความอึกทึกของเมืองใหญ่เป็นสิ่งที่น่าหวาดหวั่นยิ่งนัก



เขาไม่รู้จักของทันสมัยอย่าง "ลิฟต์" เขาเดินเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นห้องในโรงแรม และทันใดนั้นห้องก็เลื่อนขึ้น เขาก็ตกใจว่าตัวเองลอยขึ้นไป...



ในช่วงเวลานั้น ความหวังสูงสุดของเขาก็คือ การได้เป็นสุภาพบุรุษอังกฤษ... เขาสวมหมวก Top Hat ถือไม้เท้าหัวเลี่ยมเงิน เรียนเต้นรำ สีไวโอลิน และเรียนภาษาฝรั่งเศส ทว่าความสามารถพิเศษใดๆ ก็ไม่อาจลบความอ่อนหัดและความประหม่าของเขาลงไปได้ แม้เมื่อได้ปริญญาทางกฎหมายแล้ว เขาก็ยังไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง ภายหลังเขาบันทึกไว้ว่า "ความรู้สึกไร้ความเชื่อมั่นและความหวาดกลัวของข้าพเจ้าไม่มีวันสิ้นสุด"



เขากลับมาอินเดียรับว่าความคดีแรก และพบว่าเมื่ออยู่ในศาลเขาไม่สามารถเปิดปากพูดต่อหน้าผู้พิพากษาได้ เขากลัวและเศร้ากับเรื่องเช่นนี้มาก...



ด้วยความอาย...เขาจึงเริ่มมองหาทางหนี และทางออกที่มีก็คือการเสนอตำแหน่งงานจากแอฟริกาใต้



คานธีบอกไว้ว่า "ในดินแดนซึ่งพระเป็นเจ้าทรงคุ้มครองแห่งนั้นเอง ที่ข้าพเจ้าค้นพบพระเป็นเจ้าของตนเอง"



ไม่นานหลังมาถึงประเทศใหม่ เขาประสบเหตุการณ์ซึ่งสร้างความสะเทือนใจอย่างรุนแรง ความที่ไม่ทราบว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อชาวอินเดียในแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เขาจึงจองที่นั่งชั้นหนึ่งบนรถไฟไปยัง 'เพลย์โทเนีย'



ผู้โดยสารผิวขาวเห็นคานธีเข้า ก็ไปต่อว่าพนักงาน และก็บอกให้ย้ายเขาไปนั่งชั้นสามถือแม้ว่าเขาจะถือตั๋วชั้นหนึ่งก็ตาม แต่คานธีไม่ยอม พอถึงสถานีแรกที่รถจอดเขาก็โดนผู้คุมโยนลงจากรถไฟ ความอับอายครั้งนั้นถือเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เขาอยากเปลี่ยนแปลง เขาใช้เวลาทั้งคืนนั่งอยู่ที่ชานชาลา คิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะได้ความยุติธรรม



คานธีพูดถึงคืนอันหนาวเหน็บนั้นให้ฟังในเวลาต่อมาว่า เป็นประสบการณ์ที่สร้างสรรค์ที่สุดในชีวิต



เขาคิดจะกลับไปอินเดียแต่ปฏิเสธความคิดนั้นเพราะเห็นว่าเป็นการขี้ขลาด เขาคิดว่าจะยอมรับความไม่เท่าเทียมกันนั้นแต่ก็ขัดกับความรู้สึกของตนเอง เขาคิดว่าจะใช้กำลังเข้าต่อสู้ แต่ก็ต้องล้มเลิกเพราะไม่สมควร ทางเลือกเพียงอย่างเดียวที่เหลือก็คือ 'อยู่และต่อต้าน'



ในวันรุ่งขึ้น...เขาจับรถไปอีกขบวน สัปดาห์ต่อมาเขาจัดประชุมผู้อพยพชาวอินเดียขึ้น ด้วยวัย 24 ปี ความคิดอ่านของคานธีเติบโตเกินตัว เพื่อจะฝ่าฟันอุปสรรคซึ่งใหญ่ขึ้น



สิ่งนี้ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีความหมาย เขาต้องอยู่ต่อไป ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวอินเดีย และในท้ายที่สุดเพื่อสิทธิของคนผิวดำทุกคน และนั้นคือจุดเริ่มต้นของมหาตมะ เมื่อคานธี เริ่มวิวัฒน์ตัวเองเป็นมหาตมะผู้ยิ่งใหญ่



****************************************************************



ที่แอฟริกาใต้ในช่วงทศวรรษที่ 1890 ชาวแอฟริกาและอินเดียต่างตกที่นั่งต้องทำตามอำเภอใจของเจ้านายผิวขาวเหมือนกัน ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายซึ่งไม่ยอมรับ สิทธิในการออกเสียง การเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือแม้แต่เดินบนถนนในยามกลางคืน ด้วยความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะแก้ไขสิ่งผิด ในช่วงแรกๆ คานธียังตามไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง



ในฐานะนักกฎหมาย เขาเชื่อว่าเราเปลี่ยนกฎหมายเราก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ได้ ดังนั้นจากปี 1893 - 1906 เขาทุ่มเททำงานในศาลระดับล่างเพื่อทำอะไรบางอย่าง แต่ปัญหาก็คืออังกฤษฉลาดกว่าเขามากในช่วงนั้น และทุกครั้งที่เขาเปลี่ยนกฎหมายฉบับหนึ่ง ก็จะมีกฎหมายฉบับใหม่ออกมาแทนเพื่อให้ความไม่เท่าเทียมกันดำเนินต่อไปในลักษณะอื่นอีก



เมื่อต้องตกเป็นเหยื่อของชาวแอฟริกันผิวขาว คานธีจึงหาทางแก้โดยใช้การรวมพลังสามัคคี เขาเริ่มพัฒนาชุมชนของผู้คนจากต่างเชื้อชาติและต่างศาสนาขึ้น ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค เขายืนยันจะให้ปฏิบัติต่อครอบครัว ซึ่งต่อมาจะรวมถึงบุตรชายทั้ง 4 ไม่ให้ต่างจากคนอื่นๆ



แม้เขาจะชิงชังการกดขี่ของอังกฤษ แต่จนถึงทศวรรษที่ 1906 คานธียังถือตนเป็นสมาชิกผู้ภักดีของจักรภพ ยังร้องเพลง God save the Queen (เพลงชาติของอังกฤษ) และสอนลูกๆ ให้ร้องด้วย อันที่จริงแล้วเขามีความจงรักภักดีมากถึงขนาดเข้าร่วมกับกองกำลังของอังกฤษในสงครามโบเออร์ เพื่อปราบปรามการลุกฮือของพวกซูลู ในปี 1906



ประสบการณ์ในสงครามซูลูนี่เอง ที่นำเขาเข้าไปใกล้กับความรุนแรงอย่างไร้มนุษยธรรม ตอนนั้นเองที่เขาเริ่มตระหนักว่านี่ไม่ใช่สงครามระหว่างคนสองคนเสียแล้ว แต่มันคือการสังหารหมู่ คานธีถอยหลบขณะปืนของอังกฤษสังหารกองทัพซูลูซึ่งใช้หอกเป็นอาวุธ เขามองเห็นความรื่นเริงใจของทหารในการบุกเข้าฆ่า และเขาเก็บร่างของผู้บาดเจ็บที่นอนเกลื่อนกราดอยู่ด้วยความปวดร้าวใจ



เขาเริ่มคิดว่าชาวซูลูถูกชาวอังกฤษกดขี่ในลักษณะนี้ เขานึกถึงการกดขี่ในครอบครัวของตัวเอง โดยเฉพาะภรรยาของเขา ในเวลานั้นเขาเคยทำสิ่งที่เรียกว่าเป็นสามีที่โหดร้าย หึงหวง และกดขี่ การได้เห็นกบฏชาวซูลู เป็นการจุดชนวนความคิดนี้ขึ้นมา ท่านจึงเข้าใจได้ว่าชาวอังกฤษกดขี่ชาวซูลูอย่างไร แล้วนำไปเปรียบเทียบกับตัวเอง คานธีบอกว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกผิดกับพฤติกรรมกดขี่เยี่ยงนี้นัก ข้าพเจ้ารู้สึกผิดต่อชีวิตสมรสของตัวเอง ต่อความสัมพันธ์ของคาสตวา"



ประเพณีของชาวฮินดูถือว่าผู้ชายคือผู้กำหนดเรื่องที่เกี่ยวกับทางเพศ ดังเช่นที่คานธีได้ประพฤติลงไปด้วยความไร้เดียวสาแบบเด็กๆ เขาคิดว่ามีวิธีเดียวก็คือต้องบังคับความต้องการของตนจึงจะรับใช้เพื่อนมนุษย์ได้ดีที่สุด ด้วยวัย 37 ปี เขาปวารณาตนเพื่อถือเพศพรหมจรรย์ตลอดไป



ในปี 1906 คานธีก็เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางความคิดทางการเมืองอันน่าตื่นตะลึง กฎหมายใหม่กำหนดให้ชาวอินเดียทุกคนจะต้องเข้ารับการจดทะเบียนและพิมพ์ลายนิ้วมือ ข้อบังคับนี้รวมถึงการให้หญิงชาวอินเดียต้องเปลื้องผ้าต่อหน้าตำรวจผิวขาว เพื่อกรอกตำหนิรูปพรรณลงในทะเบียนด้วย



ด้วยความโกธรแค้น ชาวอินเดียสามพันคนมาพบกันในโยฮันเนสเบิรต์ เพื่อวางแผนการตอบโต้ ทันใดนั้นพ่อค้าชาวมุสลิมคนหนึ่งยืนขึ้นแล้วชูกำปั้นพร้อมกับพูดว่า "ข้าแต่พระเป็นเจ้า เราจะยอมเข้าคุกก่อนที่จะยอมแพ้ให้กฎหมายฉบับนี้!!"



คานธีไม่เคยนึกถึงการเข้าคุกมาก่อน แต่ก็รู้โดยสัญชาตญาณว่านี่แหละ...คือวิถีทางที่ถูกต้องแล้ว เขาลุกขึ้นแล้วก็พูดว่า "เราจะสวดขอต่อพระเป็นเจ้าว่า เราจะเข้าคุก และเราจะในนั้นจนกว่ากฎหมายนี้จะถูกเพิกถอน และเราจะยอม"



คำพูดของเขาจุดประกายให้เกิดการต่อต้านครั้งยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์ของมวลชนซึ่งไม่ได้กะเกณฑ์มาก่อน ผู้ประท้วงกระทำตามอย่างคานธี พวกเขาอดทนต่อการทุบตีของตำรวจ ยอมรับความเจ็บปวดอย่างกล้าหาญโดยไม่ตอบโต้



คานธีรับรู้เป็นครั้งแรกในชีวิตว่า เมื่อหัวใจของมนุษย์ปิดคุณก็ไม่อาจสัมผัสความคิดของเขาได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะใช้เหตุผลกับคนเหล่านี้ จิตใจของเขาด้านชา ถ้าเหตุผลยังไม่พอ ความรุนแรงก็ไม่ดี แล้วคุณจะทำอย่างไร เขาค้นพบวิธีต่อต้านแบบอหิงสาเป็นครั้งแรกที่แอฟริกาใต้นี่เอง คุณยืนหยัดต่อต้านผู้กดขี่ บอกเขาว่าคุณจะไม่ยอมแพ้ แต่พร้อมกันนั้นคุณก็ให้ความมั่นใจว่าคุณจะไม่ทำร้ายเขา



คานธีใช้คำว่า "สัตยาคฤห" (Satyagraha) ซึ่งเป็นการสมาสคำในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า "ความจริง" คำหนึ่ง และ "การตามหา" คำหนึ่ง เพื่ออธิบายแนวคิดในการปฏิวัติของเขา เป้าหมายของอหิงสาเก่าแก่เท่าๆ กับปรัชญาของมนุษย์ ความเข้าใจของคานธีก็คือ ต้องประยุกต์แนวคิดนั้นให้เข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองที่ปฏิบัติได้จริง เขารู้สึกว่าการที่จะปฏิบัติตามลัทธิอหิงสาที่แท้จริงนั้น ในจิตใจต้องมีการพัฒนาสันติภาพ หรือมีเมล็ดพันธุ์แห่งการประนีประนอมให้เกิดขึ้นเสียก่อน เพราะถ้าไม่มีสิ่งนี้ เราจะมีอหิงสาได้อย่างไรกัน



ในปี 1913 นายพลยาสมัสต์ ผู้บัญชาการทหารอังกฤษในแอฟริกาใต้ ได้ออกกฎหมายที่กำหนดว่าการแต่งงานของชาวฮินดูและมุสลิมถือเป็นโมฆะ ทำให้คานธีก้าวเข้าสู่การต่อต้านในวงกว้างยิ่งขึ้นโดยไม่ตั้งใจ



ตามประเพณีแล้วผู้หญิงอินเดียจะต้องอยู่แต่ในบ้าน แต่คานธีก็โจมตีธรรมเนียมนั้นว่าเป็นกดขี่รูปแบบหนึ่ง แล้วเรียกร้องให้ผู้หญิงมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมเคียงบ่าเคียงใหล่กัน ในการกล่าวปราศรัยอันจับใจครั้งหนึ่งคานธีสามารถปลดปล่อยสตรีนับล้านให้เป็นอิสระ และเป็นพลังเสริมอย่างใหม่ให้แก่มวลชนของเขาด้วย



กฎหมายสมรสใหม่นี้ก่อให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศ คนงาน 50,000 คนไม่พอใจ แล้วพากันหยุดงาน ทำให้นายพลยาสมัสต์เกิดความลังเลใจ และยกเลิกกฎหมายนั้นไป คานธีได้พิสูจน์ให้เห็นว่าพลังมวลชนสามารถเอาชนะการบีบบังคับได้



****************************************************************



ด้วยความกระตือรือร้นที่จะท้าทายอำนาจของอังกฤษในบ้านเกิดของตน ในปี 1915 ขณะอายุได้ 45 ปี เขากลับมายังอินเดียซึ่งเวลานั้นถูกกดอยู่ภายใต้แอกของลัทธิจักรวรรดินิยม เป็นเวลา 2 ศตวรรษที่อังกฤษได้ปล้นทรัพยากรธรรมชาติของอินเดียไปอย่างเป็นระบบ เมื่อถูกกวาดเอาวัตถุดิบไปหมด อุตสาหกรรมในประเทศจึงค่อยๆ ตายลง อินเดียเป็นปราการใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุด และสร้างผลกำไรที่ดีที่สุดในเครือจักรภพ อังกฤษฉุดอินเดียให้ตกต่ำลงจนถึงขีดที่ว่า อินเดียไม่สามารถผลิตแม้กระทั่งเข็มกลัดอันเล็กๆ ได้ มันเป็นสภาพที่ถูกตักตวงมาเป็นเวลานานนับปี



ก่อนปี 1915 ชาวอินเดียสามร้อยล้านคน ต้องก้มหัวให้ชาวอังกฤษจำนวนเพียงแสน ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ใดที่คนเพียงหยิบมือจะปกครองคนจำนวนมากถึงเพียงนี้ในดินแดนห่างไกลเช่นนี้ ด้วยความสิ้นหวังที่จะคืนสู่เสรีภาพ ชาวอินเดียในสภาพทาส จึงเป็นได้เพียงทหารและตำรวจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับนายผิวขาวของตนเอง



คานธีชักชวนให้ประชาชนต่อต้าน โดยบอกแก่คนเหล่านั้นว่า "คนที่ประพฤติตัวเยี่ยงหนอน จึงสมควรถูกเหยียบย่ำ เราจะต้องเรียนรู้การต่อสู้กับตัวเอง เราเป็นทาสมานานจนต้องรู้จักลุกขึ้นสู้กับตัวเองเสียบ้าง จงกำจัดความคิดที่จะพึ่งพาผู้อื่นหรือใช้การติดสินบน แทนที่จะใช้ความกล้าหาญ เราจะไม่อาจต่อสู้กับรัฐบาลได้ถ้าเราไม่เรียนรู้การต่อสู้กับตัวเอง"



อีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลอังกฤษผลักไสประชาชนให้เข้าเป็นฝ่ายคานธี โดยการโหมกระพือความคิด



ในปี 1919 คานธีต่อต้านกฎหมายใหม่โดยปลุกระดมประท้วงขึ้นทั่วประเทศ ขณะที่เขาประสานงานกับกลุ่มผู้ประท้วงจากบอมเบย์ ซึ่งห่างขึ้นไปทางเหนือหลายร้อยไมล์ ชาวอินเดีย 2,000 คน ก็มารวมตัวกันในลานหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเมืองอำมริสา พวกเขาไม่รู้ว่าสองวันก่อนหน้านั้น นายพลเรจินอลล์ ดายเออร์ ได้ออกกฎสั่งห้ามการชุมนุม โดยไม่มีการเตือนให้รู้ 'ดายเออร์' ส่งกำลังทหารอินเดีย 50 นายไปยังลานชุมนุม และสั่งให้ใช้ปืนไรเฟิลยิง !!



เป็นเวลานาน 10 นาทีที่ทหารกราดยิงผู้ชุมนุม.... มีคนตาย 379 คน และบาดเจ็บอีกมากกว่า 1,000 คน



เหตุผลเดียวที่เขาพวกหยุดยิงก็คือ กระสุนหมด... พวกเขาบอกว่าถ้ายังมีกระสุนอีก ก็จะยิงเข้าใส่ฝูงชนต่อไป ยิงประชาชนให้ตายเพื่อให้บทเรียนแก่ชาวอินเดียว่า ห้ามแข็งข้อต่ออังกฤษและจงยอมแพ้ซะเถิด....



'ดายเออร์' ออกกฎหมายอันน่าชิงชังรังเกียจขึ้น 1 ฉบับ ไล่หลังการสังหารหมู่ นั้นก็คือ 'คนอินเดียมีทางเลือก 2 ทาง ถ้าไม่ค้อมตัวลงคลานเยี่ยงหนอน ก็ต้องถูกโบยจนตาย'



ชาวอินเดียผู้คลั่งแค้นต้องการตอบโต้ ด้วยจำนวนประชากรที่มากกว่า 4,000 ต่อ 1 ของพวกเรา อาจจะฆ่าคนผิวขาวได้หมดในช่วงเวลาไม่กี่วันเท่านั้น


****************************************************************



เหตุการณ์สังหารหมู่ที่อำมริสา ในปี 1919 สร้างความหวาดหวั่นว่าจะเกิดการนองเลือดขึ้น ระหว่างคนอังกฤษกับคนอินเดียซึ่งต้องการจะแก้แค้น แต่คานธีก้าวเข้ามาแล้วพูดว่า "ไม่…เราจะไม่ทำต่ออังกฤษ เหมือนเช่นที่นายพลดายเออร์ทำต่อเรา เราต้องแสดงให้พวกเขาเห็นว่า เราสามารถวางตัวพ้นจากความรู้สึกเกลียดชังเช่นนั้น พวกเขาไม่ใช่ศัตรูแต่เป็นเพื่อน พวกเขาก็ต้องการปลดปล่อยมากเท่าๆ ที่พวกเราต้องการเหมือนกัน"



คานธีกล่าวหา "ควรยกย่องความกล้าหาญที่เงียบสงบของการตาย โดยการไม่ฆ่า"



ช่วงเวลาอีก 3 ปีต่อมา คานธีได้เปลี่ยนนักชาตินิยมอินเดียให้กลายเป็นพลังมวลชน เขาได้แปรความรู้สึกโกธรแค้นจากเหตุการณ์ที่อำมริสา ให้กลายเป็นความสามัคคีของชาวฮินดูและมุสลิม กรรมกร และพ่อค้า และเขาชนะใจประชาชนอินเดียด้วยการทำตัวเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง สวมเสื้อผ้าง่ายๆ แบบเดียวกัน อดมื้อกินมื้อ ละทิ้งความสะดวกสบาย เฉกเช่นเดียวกับผู้ยากจนที่สุด



เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเอง คานธีชักชวนชาวอินเดียให้สวมเครื่องแต่งกายในแบบเรียบง่ายของอินเดีย และให้ทอผ้าขึ้นใช้เอง เสื้อผ้าที่ผลิตจากตะวันตกถูกนำมาเผารวมกันเป็นกองใหญ่



เขาว่า "เสื้อผ้าของต่างชาติบ่งบอกว่าเราเป็นทาสทางวัฒนธรรมของชาวตะวันตก เราไม่อาจปลดปล่อยตัวเองจากความเป็นทาส การเผาเสื้อผ้าของต่างชาติ จึงเป็นการฟอกจิตใจของพวกเรา



คานธีใช้เวลาวันละ 1 ชั่วโมงทุกวันเพื่อปั่นด้ายเอง ผู้นำชาวอินเดียคนอื่นได้แต่ประหลาดใจกับความประพฤติเช่นนี้ของเขา ท่ามกลางสภาวะวิกฤตในชาติเยี่ยงนี้ แต่เขานั่งอยู่ที่เครื่องปั่นด้าย ทว่าคานธีมองทะลุถึงความสำคัญพื้นฐานนั้นว่าเป็นการเชื่อมโยงกับมวลชน วัตรปฏิบัติของเขาในฐานะผู้นำชาวอินเดีย ทำให้เขาผู้นำที่ไม่มีใครเคลือบแคลงเป็นเวลานานถึง 25 ปี



ในขณะที่มือข้างหนึ่งเปิดฉากการปฏิวัติ แต่อีกข้างหนึ่งก็ต้องปกป้องพวกพ้องไม่ให้พ่ายต่อความต้องการก่อเหตุนองเลือด หลายครั้งที่คานธียกเลิกการชุมนุม เมื่อเหตุการณ์ทำท่าจะบานปลายเป็นความรุนแรงของประชาชนในประเทศ ในฐานะผู้นำทางการเมืองคานธีได้แสดงให้เห็นว่าท่าทีอหิงสาสามารถใช้ให้เกิดผลทางการเมืองได้ แต่ละครั้งก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเมื่อใดที่ขวัญกำลังใจของคนกล้าแข็ง เขาก็จะไม่ทำให้สูญเสียไป และมันจะสูญเสียไปถ้าหากเกิดความรุนแรงขึ้นในหมู่มวลชาวอินเดีย



ทว่าหน้าที่ต่อส่วนรวมของเขา แลกมาด้วยราคาแพง บุตรชายทั้ง 4 ของคานธีมักรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งอยู่เสมอ และไม่พอใจที่พ่อหายไปอยู่ในคุกเป็นเวลานาน บุตรชายคนโตแสดงความเป็นปฏิปักษ์ในลักษณะที่ทำให้พ่อต้องปวดร้าวใจ โดยกลายเป็นคนติดเหล้าและขายตัว



นมุมมองของคานธี เขาได้สูญเสียลูกชายไปแล้ว จนวาระสุดท้ายของชีวิต เขาได้พูดถึงลูกชายคนนี้ว่า "เขาไม่ใช่ลูกของข้าพเจ้าอีกต่อไป" ซึ่งมันเป็นคำที่รุนแรงมากสำหรับพ่อผู้ที่อุทิศตนด้วยวิธีอหิงสาต้องแลกมาด้วยราคาที่แพง ...แม้จะเสียใจเรื่องของบุตรชาย แต่เรื่องส่วนตัวก็ไม่อาจขัดขวางคานธีจากภารกิจการเรียกร้องเสรีภาพให้แก่ชาวอินเดียสามร้อยล้านคนได้



ในปี 1930 ขณะอายุได้ 62 ปี คานธีวางแผนการใหม่ที่จะต่อต้านการเก็บภาษีซึ่งไม่เป็นธรรม ภาษีที่อังกฤษเรียกเก็บจากเกลือ



การทำเกลือหรือการขายเกลือของชาวอินเดียถือว่าผิดกฎหมาย กิจการนี้สงวนไว้ให้สำหรับคนต่างชาติทำ เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่การประท้วงครั้งนี้ เขาวางแผนจะเดินเท้าเป็นระยะทาง 240 ไมล์ ไปยังทะเลอาหรับเพื่อไปทำเกลือที่นั้น พวกพ้องของเขาในสภาคองเกรซของอินเดีย ต่างอ้อนวอนให้เขาทบทวนแผนการครั้งนี้ใหม่ เกลี้ยกล่อมว่าแผนการนี้อาจจะล้มเหลว รัฐบาลอังกฤษมั่นใจว่าศัตรูเก่าของตนกำลังถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด


****************************************************************



วันที่ 12 มีนาคม 1930 คานธีพร้อมด้วยสาวกจำนวน 80 คน เริ่มต้นการเดินทางซึ่งกลายเป็นความสนใจของชาวโลก และเปลี่ยนแปลงวิถีทางแห่งประวัติศาสตร์



ขบวนของคานธีเดินได้เพียงวันละ 10 ไมล์ และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาร่วมด้วย และมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้ามาที่อินเดียเพื่อทำข่าวนี้เป็นคนแรก เมืองชายฝั่งที่ใกล้ที่สุดคือเมืองพาราณาสี ผ่านไป 24 วันเขาเดินทางผ่านหมู่บ้านนับพันๆ แห่ง ขบวนของเขากลายเป็นกลุ่มผู้ประท้วงขนาดใหญ่ และทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป ไม่เพียงแต่คนทั่วทั้งอินเดียจะเข้าร่วม แต่ทั้งโลกก็เอาใจช่วยเช่นกัน รายงานข่าวของอเมริกันส่วนใหญ่รายงานว่านี่เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ



เมื่อขบวนของคานธีถึงชายฝั่งมหาสมุทรในวันที่ 6 เมษายน มีชาวอินเดียหลายแสนคนเข้าร่วมกับเขา คานธีก้มลงหยิบเกลือขึ้นแล้วพูดว่า "ด้วยเกลือหยิบมือนี้ ข้าพเจ้าขอต่อต้านการบังคับของจักรวรรดิอังกฤษ ขอเราจงร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเรากันเถิด" และการตอบสนองเป็นไปราวกับประกายไฟ ทั่วทั้งประเทศไม่ว่าพ่อค้า ชาวนา แม่บ้าน ต่างพากันทำเกลือ และขายเกลือกันอย่างเปิดเผย



คนหลายพันถูกจองจำ รวมทั้งคานธีด้วย ตำราจทุบตีผู้ประท้วงอย่างโหดเหี้ยม สร้างความโกธรแค้นและความสามัคคีขึ้นในหมู่ชาวอินเดียมากยิ่งขึ้น คานธีรู้ดีว่าการใช้วิธีต่อต้านแบบอหิงสา จำเป็นต้องแสดงความกล้าหาญออกมาให้เห็น จึงจะดึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในตัวมนุษย์ออกมาได้ เขาสอนให้ชาวอินเดียรู้จักต่อต้านผู้กดขี่ และต่อสู้กับตัวเองด้วย



ภายใต้ความกดดันจากนานาชาติ ลอร์ดเออร์วิน ผู้สำเร็จราชการอังกฤษจึงยอมปล่อยตัวคานธี และเชิญเขามาเจรจา



คานธีตรงออกจากที่คุมขังไปยังจวนของผู้สำเร็จราชการ ซึ่งจะรองรับแขกผู้มีเกียรติเท่านั้น...



น้ำอุ่นถูกนำมารับรองคานธีตามคำขอ เขาวางแก้วลง แล้วก็ค่อยๆ หยิบอะไรบางอย่างออกมาจากชายพก ผู้สำเร็จราชการถามว่าอะไร คานธีตอบว่า "ท่านที่เคารพอย่าบอกเรื่องนี้ให้ใครรู้ นี่เป็นเกลือที่ผมแอบทำโดยผิดกฎหมาย" เขาเทเกลือนั้นลงในน้ำ... คน... แล้วก็ดื่ม



ในปีถัดมา คานธีเดินทางไปลอนดอนเพื่อร่วมประชุมเรื่องอนาคตของอินเดีย และเช่นเคย...เขาเดินทางในชั้นสาม และปฏิบัติภารกิจเช่นที่ทำประจำวัน



ที่ลอนดอน คานธีสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนเป็นผลสำเร็จอย่างงดงาม เขาอาศัยอยู่กับคนยากจนในเขตอีสต์เอนส์ ได้รับความชื่นชมทุกหนทุกแห่งที่ไป เด็กๆ เดินตามเขาพร้อมกับร้องตะโกนว่า 'คานธีกางเกงของท่านไปไหนซะละ'



คานธีกล่าวว่า "ขอให้บอกแก่เด็กอื่นๆ ว่าข้าพเจ้ารักพวกท่านมากเท่ากับลุกของข้าพเจ้าเอง"



เมื่อได้รับเชิญไปเข้าเฝ้ากษัตริย์ที่พระราชวัง คานธีถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่เข้าเฝ้ากษัตริย์ด้วยชุดโสร่ง เขาตอบว่าพระมหากษัตริย์ก็สวมชุดที่เหมาะกับเราทั้งสองเช่นเดียวกัน



เขากลับมาอินเดีย และแพร่ข่าวโดยผ่านทางการประชุมสวดประจำวัน - "ข้าพเจ้ากำลังขอร้องต่อบิดาแห่งชาติของเรา ให้ท่านมีเมตตา มีความรัก เห็นความจริงและงดใช้ความรุนแรง ขอจงประทานพรแก่พวกเรา เสรีภาพอันสมบูรณ์เท่านั้นคือสิ่งที่เราต้องการ"



คานธียอมรับว่า อัตตาคือจุดบกพร่อง และบางครั้งความชื่นชมบูชาของมวลชนก็ทำให้เขาคึกคะนอง อย่างไรก็ดีความวินัยอันเคร่งครัดทำให้เขาเอาชนะความรู้สึกนั้นได้ หลานชายของคานธีเคยเล่าว่า 'จำได้ว่าหลายครั้งที่ผมเดินทางไปกับท่าน ตามสถานีรถไฟทุกแห่ง ก็จะมีผู้คนเป็นพันๆ มาร้องตะโกน คานธีจงเจริญ คานธีจงเจริญ และจะร้องอยู่อย่างนั้นจนรถไฟแล่นผ่านไป ผลจากเสียงร้องพวกนั้นทำเอาท่านนอนไม่หลับเลย'



คานธีห้อมล้อมไปด้วยบริวารผู้จงรักภักดี ซึ่งพร้อมจะทำตามคำบัญชาของเขา ในช่วงเวลาที่คานธีถือเพศพรหมจรรย์ ในช่วงหลังๆ ก่อนจะเสียชีวิต คานธีได้ทดสอบความตั้งใจจริงของตนเอง ซึ่งทำให้ผู้ที่ชื่นชมต้องตกใจ นั้นก็คือนอนเปลือยกายกับเด็กสาวชาวฮินดู จุดประสงค์คือต้องท้าทายความมีวินัยของตนเอง และดังนั้นจึงยกระดับความมุ่งมั่นให้สูงยิ่งขึ้น



สำหรับชาวอินเดียแล้ว คานธีเกือบจะเป็นเหมือนรูปเคารพ แต่จักรวรรดิอังกฤษกลับถือว่าเขาคือศัตรู



ในเดือนสิงหาคม ปี 1942 คานธีเรียกร้องการประกาศอิสรภาพโดยทันที "นี่คือคำสวดเป็นคำสั้นๆ ที่ข้าพเจ้าจะมอบแก่ท่านอยู่หรือตาย เราจะปลดปล่อยอินเดียหรือมิฉนั้นก็ยอมตาย" และในคืนวันที่คานธีประกาศอิสรภาพนั้นเอง เขาและสมาชิกสภาคองเกรซทั้งหมดก็ถูกจับกุม ด้วยวัย 73 ปีและด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรม เขาจะต้องนำการปฏิวัติในอีก 2 ปีข้างหน้าจากในคุก



ในปี 1944 ภรรยาของเขา คาสตวา คู่ชีวิตที่อยู่ร่วมกันมา 62 ปี เสียชีวิตในอ้อมแขนของเขา คานธีเศร้าเสียใจอย่างหนัก



คานธียังคงยึดมั่นในหลักการของตนเอง และขอร้องให้คนอื่นทำแบบเดียวกัน แม้ในช่วงที่เจรจากับผู้สำเร็จราชการ ลอร์ดเมาท์ แบดเทริส์น คานธีก็ยังคงปฏิบัติสมาธิภาวนาเป็นประจำ สัปดาห์ละ 1 วัน



1 ปีให้หลัง อังกฤษซึ่งอ่อนแรงลง ยอมรับว่าตนไม่สามารถปกครองอินเดียอีกต่อไปได้ ทว่าอนาคตของชาติใหม่ปรากฏความขัดแย้งให้เห็นอยู่เบื้องหน้าแล้ว ชาวฮินดูและมุสลิม คู่แข่งอันยาวนาน หันมาเกลียดกันอย่างเปิดเผย ชาวมุสลิมส่วนน้อยยืนยันจะแยกตัวออกไป (กลายเป็นประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) หลังจากอุทิศมาชั่วชีวิตเพื่อรวมประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียว แต่คานธีกลับต้องเห็นบ้านเกิดอันเป็นที่รักถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำร้ายจิตใจเขามาก



'ลอร์ดเมาท์ แบดเทริส์น' ได้ทิ้งยาพิษที่ขมขืนไว้สำหรับชาติอินเดียที่เป็นเอกราชและคานธี คือการแบ่งแยกอินเดียออกเป็น 2 ประเทศ ด้วยการก่อตั้งรัฐปากีสถาน ซึ่งคานธีไม่สามารถรับได้ มันทำร้านจิตวิญญาณของเขา



วันที่ 14 สิงหาคม 1947 อินเดียก็ฉลองอิสรภาพของตน แต่คานธีมองเห็นความแตกแยกระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม เขาถามเพื่อนของเขาว่า "เหตุใดคนเหล่านั้นจึงยินดี ข้าพเจ้ามองเห็นแต่เลือดนองแผ่นดิน



การแบ่งแยกก่อให้เกิดการอพยพขนานใหญ่ในทันที ชาวฮินดูข้ามมายังอินเดีย ชาวมุสลิมหนีเข้าไปในปากีสถาน ผู้คนอพยพหลายแสนคนเดินเท้าอย่างหมดสิ้นหนทางโดยปราศจากอาหารและน้ำ ผู้คนของ 2 ศาสนาประสบหายนะจากความอดอยาก แบ่งแยกกันจากความเป็นปรปักษ์แต่โบราณ การต่อสู้นองเลือดก็เกิดขึ้น ฮินดูและมุสลิมระเบิดความเกลียดชังเป็นการสังหารหมู่ ทั้ง 2 ฝ่ายกระทำลงไปด้วยความกลัวและความโกรธ มีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า 'ผมยืนอยู่ที่ชานชาลาตอนรถไฟเข้าเทียบ ไม่มีผู้คนเคลื่อนไหวบนขบวนรถ มีแต่เลือดหยดออกจากประตู พอประตูรถเปิดข้างในนั้นมันก็เหมือนกับร้านขายเนื้อ เว้นแต่ว่าเนื้อพวกนั้นมีเสื้อสวมอยู่'



ท้ายที่สุดผู้คนจำนวนครึ่งล้านคือผู้สูญเสีย ภาพการสังหารที่คานธีคาดคิดไว้ กรีดลึกลงไปในความรู้สึกผิด คานธีรู้สึกว่าตนไม่อาจเปลี่ยนประชาชนให้ใช้ความอหิงสาได้ ผู้ใกล้ชิดคานธีเล่าว่า 'ท่านเสียใจมาก ท่านบอกว่าท่านมองไม่เห็นอะไรเลย มีแต่ความมืดมนอยู่ทุกหนแห่ง ผู้คนกระทำตัวเหมือนสัตว์ป่า ท่านบอกว่าแย่เสียยิ่งกว่าสัตว์เสียอีก เพราะว่าสัตว์ป่าไม่ฆ่าพวกเดียวกันเอง ท่านบอกว่าข้าพเจ้าจะอดอาหารประท้วงจนกว่าการเข่นฆ่าจะหยุดลงไป จนกว่าฮินดูและมุสลิมจะเป็นพี่น้องกัน'



พวกหัวรุนแรงชาวฮินดูไม่พอใจวิธีการอหิงสาของคานธี และความต้องการที่จะให้ชาวฮินดูและมุสลิมอยู่ร่วมกัน



คานธีมีความอับอายต่อพรรคคองเกรซของเขาเอง เขาตำหนิมันและเพื่อนของเขา 'โยฮาราน เนรู' นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียเอกราช เขาล้มป่วยจากความวุ่นวายซึ่งกำลังทำลายอินเดีย



คานธีเริ่มอดอาหารประท้วง มีความโกรธแค้นมากในหมู่ผู้อพยพในตอนนั้น ผู้ที่เดินขบวนร้องว่า 'คานธีจงลงนรก ปล่อยให้คานธีตายไป ให้เขาตายไปไปลงนรกซะ' พอวันที่ 2 ก็เริ่มมีผู้คนที่คัดค้านฝ่ายแรก และวันที่ 3 ฝ่ายคัดค้านก็เริ่มใหญ่ขึ้น และกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านคานธีก็เล็กลง วันที่ 4 แนวโน้มก็ยังเป็นเช่นนั้นต่อไป จนในที่สุดทั่วทั้งถนนนั้นก็มีแต่ผู้เชียร์คานธี และ 1 สัปดาห์ผ่านไป พวกมุสลิมก็สามารถจะเดินออกไปในท้องถนนของกรุงเดลีย์ได้อย่างปลอดภัย การอดอาหารประท้วงของคานธีช่วยชาวนิวเดลีย์เอาไว้ แต่ที่พรมแดนอินเดีย-ปากีสถาน สงครามกลางเมืองยังคงร้อนระอุ



คานธีออกจาริกเพื่อสันติภาพข้ามดินแดนซึ่งแตกแยกเพราะความเกลียดชัง เขาเดินเท้าเปล่าจากหมู่บ้านหนึ่ง ไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง อดทนต่อฝูงชนผู้โกรธแค้น มีการขวางปาหนามเข้าใส่ทางเดิน คานธีจะตื่นขึ้นเวลาตีสี่ของทุกเช้าเพื่อต่อสู้กับคลื่นแห่งการนองเลือด



คงไม่มีชาวอินเดียคนใดจะไม่รู้สึกละอายและภาคภูมิใจ ละอายที่คานธีถูกเหยียบย้ำอย่างถึงที่สุดจากชาวอินเดียด้วยกัน และภูมิใจที่ว่าในท่ามกลางเขาเหล่านั้น ขณะช่วงเวลาแห่งความโหดร้ายทมิฬ คนๆ หนึ่งยืนหยัดขึ้นเพื่อทำให้พวกเขาภาคภูมิที่เกิดเป็นชาวอินเดีย คนซึ่งชดใช้หนี้ให้พวกเขาทำนองเดียวกับพระเยซูคริสต์ และตอนนั้นเองที่คานธีพูดว่า "ไม่มีอะไรอื่นนอกจากโหดร้ายรอบกายข้าพเจ้า ชีวิตข้าพเจ้าต้องพ่ายแพ้ มีแต่ความตายจึงจะทำให้สิ่งที่ชีวิตข้าพเจ้าไม่อาจทำสำเร็จบรรลุผลขึ้นได้"



เขาเดินทางต่อไปโดยไม่มีการคุ้มกัน เข้าไปในเขตที่สถานการณ์ล่อแหลมที่สุด แล้วก็กล่าวกับเพื่อนคนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้าอาจจะตายโดยน้ำมือของผู้ลอบสังหาร และถ้าเป็นอย่างนั้นให้จำไว้ว่า ข้าพเจ้ายอมรับลูกกระสุนนั้นอย่างกล้าหาญ ด้วยพระนามของพระเป็นเจ้า และเมื่อนั้นข้าพเจ้าจึงจะเชื่อว่าตนคือ มหาตมะ อย่างแท้จริง"



การประชุมสวดมนต์กลายเป็นวิธีปลดปล่อยของเขาทุกวัน และตำรวจขอว่าให้เราค้นตัวผู้คน... แต่คานธีว่า ..ไม่ พระเจ้าจะปกป้องฉัน ไม่ต้องค้นตัวใคร ปล่อยเขาเข้ามา - "หากมีการนองเลือด ปล่อยให้เป็นเลือดของฉัน เพราะคนจะมีอยู่ชีวิตอย่างอิสระ หากพร้อมที่จะตายถ้าจำเป็นด้วยมือของพี่น้องของเขา"



ในที่สุดแผนลอบสังหารคานธีก็อุบัติขึ้น ด้วยความคาดไม่ถึง ตำรวจไม่บอกคานธีถึงการจับกุม และคำสารภาพของผู้ก่อการคนหนึ่งเรื่องความพยายามลอบสังหารเขาที่ล้มเหลวครั้งก่อน



วันที่ 30 มกราคม 1948 คานธีในวัย 78 ปี เดินเข้าไปในที่ประชุมสวดประจำวัน ในสวนเวอริฮาทร์ กรุงนิวเดลีย์ ท่ามกลางฝูงชนนั้นเอง ชายชาวฮินดูคนหนึ่ง 'นาฮูราน กอสซี่' วัย 36 ปี ก้าวออกมาก้มลงคารวะคานธี แล้วพูดว่า 'ท่านมาสายสำหรับการสวด' คานธีก็พูดว่า 'ใช่ฉันมาสายไป มาสายจริงๆ' แล้วกอสซี่ชักปืนเล็กๆ ออกจากเสื้อเชิ้ตของเขา แล้วยิงปืนใส่คานธี 3 นัด กระสุนเจาะทะลุท้องของมหาตมะ และอีกนัดหนึ่งที่หน้าอก เขาไม่แสดงถึงความประหลาดใจหรือความเจ็บปวด ขณะสุดท้ายก่อนความตายจะพรากเขาไป คานธีพนมมือในลักษณะสวดมนต์แล้วพึมพรำคำว่า "ราม" พระผู้เป็นเจ้าในภาษาอินเดีย



โลกของอินเดียเปลี่ยนไปอย่างรุนแรงเมื่อไม่มีมือที่เยือกเย็นของมหาตมะ คานธี ความประนีประนอมทางเชื้อชาติก็จางหายไป



'กอสซี่' และผู้สมคบคิด 9 คน ก็ถูกขึ้นศาล เขาเสนอถ้อยแถลงยาว 92 หน้า ซึ่งเขาเรียกคานธีว่าผู้ทรยศ พลังที่เลวร้าย ซึ่งจะทำให้มุสลิมขึ้นมาเป็นใหญ่ในอินเดีย 'กอสซี่' ถูกตัดสินว่ามีความผิด และถูกแขวนคอที่อัมบาราเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 1949 ผู้สมคบคิดคนที่สองก็ถูกแขวนคอ และคนอื่นๆ ถูกจำคุกตลอดชีวิต



อินเดียทั้งประเทศคร่ำครวญนาน 13 วัน ความเศร้าโศกและตื่นตระหนกจากการสังหารคานธี ดึงอินเดียให้หลุดออกจากความบ้าคลั่ง ความรุนแรงยุติลงเพียงชั่วข้ามคืน ผู้คนนับล้านต่างหลั่งไหลมายังกรุงเดลีย์ เพื่อให้ได้อยู่ใกล้เขา ตลอดทั้งคืนนั้นทุกคนต่างมาที่นี่ คลื่นมนุษย์พาหลั่งไหลติดตามร่างของชายร่างเล็กคนนี้ จนมาถึงลานเผาศพ ฝูงชนประมาณ 3-4 ล้านคนกั้นสะอื้นไม่อยู่



ทั้งหมดเพื่อให้เกียรติแก่ชายคนหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีตำแหน่งสำคัญในอินเดีย ชายซึ่งไม่ร่ำรวยและมีทรัพย์สินทั้งหมดไม่ถึง 3 ดอลลาห์เมื่อเขาตาย ไอน์สไตน์กล่าวถึงคานธีว่า 'คนรุ่นอนาคตจะไม่มีทางเชื่อเลยว่า มีคนแบบนี้อยู่จริงบนโลกมนุษย์นี้'



มีคนกล่าวไว้ว่า 'ท่านคานธีเป็นอมตะ' คงเพราะมรดกแห่งมนุษยชาติอันยิ่งใหญ่ที่สุด คือการใช้ชีวิตแบบคานธี ชีวิตที่เกิดมาเพื่อความใฝ่ฝันเพียงอย่างเดียว... หลักการเดียว... นั้นคือ หลักอหิงสา



การต่อสู้โดยไม่ใช่ความรุนแรงได้ปลดปล่อยอินเดียให้เป็นอิสระ และนับจากนั้นอีก 50 ปีต่อมา อหิงสาได้เปลี่ยนโฉมหน้าของโลก ดังที่มาร์ติน ลูเธอร์คิงส์ ได้กล่าวไว้ว่า "พระเยซูเจ้ามอบคำสอนแก่ข้าพเจ้า คานธีมอบวิธีการ"



อังคารของคานธีได้รับการอันเชิญโดยรถไปชั้นสามขบวนพิเศษ ไปยังชายฝั่งมหาสมุทรเพื่อโปรยลงบนคลื่น ที่พำนักสำหรับวิญญาณซึ่งไม่เคยสูญเสียความศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า หรือต่อมนุษย์เลย