วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550

Special Thanks

ขอขอบคุณ เอกสารประกอบการเรียนวิชา 127330 จิตวิทยาการเมือง และหนังสือจิตวิทยาการเมือง ของ อ.ณรงค์ สิสวัสดิ์ ที่ใช้ไว้อ้างอิงในการเขียนบทวิเคราะห์


ขอขอบคุณ Blogger ทำให้ผมมีพื้นที่ในการนำเสนองาน


ขอขอบคุณหอสมุดกลางที่เอื้อเฟื้อสถานที่ให้มานั่งทำเวปบลอค


ขอขอบคุณจัมโบ้เนต เนตของชาว มช. ที่ทำให้ผมท่องโลกอินเตอร์เนตโดยไม่ติดขัด



ขอขอบคุณวิชา 127427 ที่ทำให้ผมยิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว


ขอขอบคุณอาจารย์ราม โชติคุต ที่เปิดวิชาดีๆให้ผมได้มาเรียน

บทวิเคราะห์เปรียบเทียบผู้นำทางการเมืองระหว่างมหาตมคานธี กับออล์ฟ ฮิตเลอร์

บทวิเคราะห์เปรียบเทียบผู้นำทางการเมืองระหว่างมหาตมคานธี กับออล์ฟ ฮิตเลอร์ ในประเด็นต่างๆดังนี้
1.ประเภทของผู้นำ
จากแนวคิดการแบ่งประเภทของชนชั้นนำของแม็กช์ เวเบอร์ สามารถนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบลักษณะผู้นำทางการเมืองระหว่าง คานธีและฮิตเลอร์ได้ กล่าวคือ มหาตม คานธี มีลักษณะของการเป็นผู้นำโดยบารมี ( Charismatic leader ) กล่าวคือ ผู้ที่มีลักษณะของการเป็นผู้นำโดยบารมีอย่างแท้จริงมักจะมีฐานะในการครอบงำผู้อื่นและมีลักษณะของการเป็นต้นแบบ ( Pure Type ) จะเห็นได้จากการที่คานธีสามารถครอบงำความคิดของชาวอินเดียในการต่อต้านชาวอังกฤษและคานธียังเป็นต้นแบบของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงให้ชาวอินเดียได้เห็นคือ การทอผ้าใช้เองเพื่อต่อต้านการเข้ามาของอังกฤษ เป็นต้น ผู้นำแบบนี้มักจะเป็นที่ต้องการในสถานการณ์ที่มีปัญหายุ่งยากทางสังคม การเกิดขึ้นของผู้นำชนิดนี้มักจะเกี่ยวข้องกับสภาพจิตของมวลชนซึ่งพร้อมที่จะมอบตัวอยู่ภายใต้การชี้นำของผู้นำ จะเห็นได้จากสถานการณ์ในขณะนั้นที่ชาวอินเดียถูกกดขี่โดยชาวอังกฤษทำให้สภาพจิตใจของชาวอินเดียในขณะนั้นย่ำแย่มาก ดังนั้นชาวอินเดียจึงต้องการผู้นำที่จะมาปลดปล่อยชาวอินเดียให้เป็นอิสรภาพ เมื่อคานธีมีแนวคิดที่จะมาปลดปล่อยชาวอินเดียให้เป็นอิสรภาพ ชาวอินเดียทั้งหลายจึงพร้อมที่จะมอบตัวให้อยู่ภายใต้การชี้นำของคานธี พูดง่ายๆคือ เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย นั่นเอง โดยทั่วไปแล้วพวกผู้นำโดยบารมีมักจะเป็นพวกหัวรุนแรง ( Radical ) ซึ่งก้าวขึ้นมาท้าทายกฎเกณฑ์ที่ยอมรับกันอยู่และกล้าที่จะแตกต่างออกไปทั้งจากความคิดและวิถีปฏิบัติที่คุ้นเคยแต่ดั้งเดิม มวลชนซึ่งเป็นผู้ตามมักจะยินดีหันหลังให้กับกฎระเบียบและเดินตามแบบแผนที่ไม่เคยมีมาก่อนซึ่งผู้นำบารมีเสนอขึ้นมา จะเห็นได้จากแต่เดิมอินเดียถูกปกครองโดยอังกฤษ กฎเกณฑ์ที่นำมาปกครองอินเดียทำให้ชาวอินเดียเป็นฝ่ายที่ถูกกดขี่ข่มเหงมาตลอด คานธียอมรับสภาพที่ชาวอังกฤษกระทำต่อชาวผิวดำไม่ได้ จึงลุกขึ้นมาท้าทายและต่อต้านความอยุติธรรมนั้น เมื่อชาวอินเดียเห็นว่าการลุกขึ้นมาท้าทายและต่อต้านจะเป็นสิ่งที่จะทำให้ชาวอินเดียได้รับอิสรภาพ ชาวอินเดียจำนวนมากจึงยินดีที่จะทำตามกฎระเบียบและเดินตามแบบแผนที่คานธีเสนอขึ้นมา
ส่วนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีลักษณะของการเป็นผู้นำแบบพ่อขุนอุปถัมถ์ ( Patrimonialism ) กล่าวคือ ตามแนวคิดของเวเบอร์นั้น ระบอบพ่อขุนอุปถัมถ์นั้นเป็นระบอบที่โตขึ้นมาจาก “ปิตาธิปไตย”ซึ่งพ่อหรือเพศชายป็นใหญ่ในสังคม หรือที่เวเบอร์เรียกว่าเป็นการครอบงำทางสังคม ระบอบปิตาธิปไตยมีลักษณะเด่นๆสามประการคือ ประการแรก อำนาจเป็นอภิสิทธิ์ส่วนตัวของผู้เป็นนาย ประการที่สอง บรรดาผู้อยู่ใต้อำนาจล้วนมีความสัมพันธ์กับนายเป็นการส่วนตัว และประการสุดท้าย อำนาจแบบปิตาธิปไตยเป็นอำนาจตามอำเภอใจ จะเห็นได้จากในขณะที่ฮิตเลอร์เถลิงอำนาจอยู่นั้น อำนาจเป็นอภิสิทธ์ส่วนตัวของฮิตเลอร์และเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจของฮิตเลอร์ ที่จะใช้อำนาจในการฆ่าล้างชาวยิว เพื่อผดุงรักษาไว้ซึ่งชนเผ่าอารยันชาติพันธุ์อันบริสุทธิ์ ซึงฮิตเลอร์มองว่าชนชาติยิวเป็นชนชาติที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากชาวเยอรมัน ดังนั้นจึงต้องกำจัดชาวยิวให้หมดไปเสีย

2.แรงบันดาลใจทางการเมือง
ตามแนวคิดของ เบิร์น เกี่ยวกับ เงื่อนไขที่มีอิทธิพลต่อลักษณะของความเป็นผู้นำ หนึ่งในนั้น คือ แรงบันดาลใจทางการเมือง สามารถนำมาอธิบายเงื่อนไขความเป็นผู้นำทั้งคานธีและฮิตเลอร์ได้ กล่าวคือ
แรงบันดาลใจทางการเมืองของมหาตม คานธี เริ่มต้นขึ้นในช่วงที่คานธีเดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษ คานธีมุ่งมั่นปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะยกระดับฐานะของตนเองให้เหมือนอย่างชาวอังกฤษ ทั้งการลอกเลียนแบบการแต่งกาย หัดเต้นรำ เล่นดนตรี และยังมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยตามอย่างอังกฤษ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถจะเป็นผู้ดีชาวอังกฤษได้ เนื่องจากเหตุการณ์สะเทือนใจที่คานธีเจอหลังจากเรียนจบ คานธีได้เดินทางไปเป็นทนายความในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นเมืองของอังกฤษความที่ไม่ทราบว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อชาวอินเดียในแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เขาจึงจองที่นั่งชั้นหนึ่งบนรถไฟไปยัง 'เพลย์โทเนีย' แต่สิ่งที่คานธีค้นพบคือ ไม่ว่าคานธีจะเรียนสูงเพียงใด ก็ยังถูกเหยียดผิวเหมือนชาวอาณานิคมทั่วไป จากสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ความมุ่งมาดปรารถนาส่วนตัวของคานธี ก็เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจทางการเมือง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การทำลายล้างความอยุติธรรม
สำหรับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แรงบันดาลใจทางการเมืองของฮิตเลอร์อยู่ที่ความปราถนาส่วนตัวของฮิตเลอร์เอง แม้ว่าเขาจะได้พูดถึงการกอบกู้ประเทศชาติ แต่ก็เป็นเพียงการหลอกตนเอง ฮิตเลอร์ได้เชื่อมโยงจุดหมายทางการเมืองทั้งปวงไว้กับฐานะการครอบงำของเขา ฮิตเลอร์มีปมด้อยบางอย่างที่ติดตัวมาตั้งแต่ในวัยเด็ก คือเขามองว่าการพ่ายแพ้ของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 ราวกับการที่มารดาของตนเองถูกข่มขืน และมองผู้รับผิดชอบในครั้งนั้นล้วนเป็นอาชญกรที่สมควรถูกลงโทษ ด้วยเหตุนี้ สภาพจิตใจทางการเมืองของฮิตเลอร์จึงปรากฏออกมาในเชิงที่ต้องการล้างแค้นและการแสดงอำนาจ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ฮิตเลอร์ได้ทำงานเป็นสายลับให้กับรัฐบาลและมีหน้าที่คอยสืบข่าวจากกลุ่มการเมือง จนกลายเป็นอาชีพเดียวที่เขาทำได้ดีและฮิตเลอร์ก็ตัดสินใจเข้าสู่วงการเมืองนับแต่นั้นเป็นต้นมา

3.โอกาสทางการเมือง
ตามแนวคิดของ เบิร์น เกี่ยวกับ เงื่อนไขที่มีอิทธิพลต่อลักษณะของความเป็นผู้นำ หนึ่งในนั้น คือ โอกาสทางการเมือง สามารถนำมาอธิบายเงื่อนไขความเป็นผู้นำทั้งคานธีและฮิตเลอร์ได้ กล่าวคือ
โอกาสทางการเมืองของคานธีเริ่มจากการที่คานธีมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ทำให้คานธีมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมากและมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเป็นตามอย่างชาวเมืองผู้ดี หลังจากคานธีศึกษาจบก็ได้มีโอกาสได้ไปทำงานเป็นทนายความที่แอฟริกาใต้ ที่แอฟริกานี่เอง คานธีก็ยังได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม มีการเหยียดผิวกัน ทำให้คานธีเกิดความรู้สึกไม่พอใจและจะต้องทำลายล้างความอยุติธรรม หลังจากเหตุการณ์นั้นทำให้คานธีเกิดแรงบันดาลใจจะลุกขึ้นต่อสู่กับชาวผิวขาว คานธีเริ่มจากการรณรงค์ให้ชาวอินเดียทอผ้าใช้เอง ไม่ซื้อสินค้าที่เป็นของชาวผิวขาว และกล้าที่ลุกขึ้นมาประท้วงโดยสันติวิธี ทำให้ชาวอินเดียเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวคานธีที่จะมาเป็นวีรบุรุษเพื่อมาปลดปล่อยชาวอินเดียให้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
ส่วนโอกาสทางการเมืองของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือโอกาสการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ใช้วิธีไต่เต้า เริ่มจากฮิตเลอร์เข้าไปสมัครเป็นทหารในกองทัพ และฮิตเลอร์ได้ผ่านสมรภูมิสงครามมาอย่างโชกโชน เริ่มหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ฮิตเลอร์มีโอกาสได้เข้าไปทำงานเป็นสายลับให้กับรัฐบาลและมีหน้าที่คอยสืบข่าวจากกลุ่มการเมืองต่างๆ จนกลายเป็นอาชีพเดียวที่ฮิตเลอร์ทำได้ดี ประกอบกับฮิตเลอร์เป็นคนที่มีวาทศิลป์ในการพูด ในการชักจูงทำให้คนอื่นคล้อยตามได้ ฮิตเลอร์มีโอกาสได้พูดความต้องการของเขาต่อสาธารณะ เรื่องการกำจัดชนชาวยิวให้หมดไปและการผดุงรักษาไว้ซึ่งชนชาติเยอรมันที่ยิ่งใหญ่ ความคิดของฮิตเลอร์ในขณะนั้นไปสอดคล้องกับความคิดดั้งเดิมของชาวเยอรมันที่รักในศักดิ์ศรีอย่างมาก ทำให้ฮิตเลอร์ได้รับการสนับสนุนจากชาวเยอรมัน

4.นักแสวงหาอำนาจและวีรชน
ตามแนวคิดของ Eugene E. Jennings ได้จำแนกผู้นำออกเป็น 2 ประเภทกว้างๆ คือ พวกที่เขาเรียกว่า The Prince กับพวก The Hero หรือพวกนักแสวงอำนาจกับวีรชน ซึ่งบุคลิกภาพทั้งสองแบบนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากแนวคิดของเจนนิ้งส์ สามารถนำมาวิเคราะห์บุคลิกภาพของทั้งคานธีและฮิตเลอร์ได้ กล่าวคือคานธี มีบุคลิกภาพผู้นำแบบวีรชน Hero กล่าวคือ ในทัศนะของเจนนิ้งส์ ผู้นำแบบวีรชน คือ คนที่พยายามเชิดชูความริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีแก่นสารแท้จริง ลักษณะสำคัญของผู้นำแบบนี้คือเป็นผู้ที่มีศักดิ์ศรีและความจริงใจ มีความรักเพื่อนมนุษย์และยึดมั่นในสัจธรรม จากลักษณะสำคัญดังกล่าวมีความสอดคล้องกับคานธีอย่างยิ่ง จะเห็นได้จาก คานธีเป็นผู้ที่รักศักดิ์ศรี รักความยุติธรรม ไม่ชอบเห็นการเบียดเบียน มีความรักเพื่อนมนุษย์และยึดมั่นในสัจธรรม คานธีมีความรักให้แก่ชาวอินเดียทุกคน ดังนั้นคานธีจึงพยายามที่จะปลดปล่อยชาวอินเดียให้เป็นอิสระจากชาวอังกฤษ ด้วยเหตุนี้คานธีจึงเป็นที่รักของชาวอินเดียทุกคน คานธียึดมั่นในสัจธรรมที่จะต่อสู้เรียนร้องความเป็นธรรมโดยสันติวิธี
ส่วนฮิตเลอร์ มีบุคลิกภาพผู้นำแบบนักแสวงหาอำนาจ The Prince กล่าวคือ ในทัศนะของเจนนิ้งส์ ผู้นำแบบนักแสวงหาอำนาจ คือ คนที่พยายามขยายอำนาจของตัวเองออกไปให้มากยิ่งขึ้น ลักษณะสำคัญของผู้นำแบบนี้ ประการแรก คือ คนที่มองอำนาจว่าเป็นจุดหมายในตัวมันเอง กล่าวคือ พวกเขาก็ไม่ได้คิดว่าคนส่วนใหญ่ต้องการอำนาจเหมือนกับตน หากต้องการเพียงความมั่นคงในชีวิตเพื่อที่จะดำเนินกิจกรรมเล็กๆน้อยๆไปตามใจชอบเท่านั้น หรือพูดง่ายๆคือ การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจเป็นเรื่องของคนส่วนน้อยซึ่งต้องการครอบงำผู้อื่น ดังนั้น จึงแทบจะตัดสินไม่ได้เลยว่าใครดีกว่าใครในทางศีลธรรม คนที่แสวงหาอำนาจย่อมไม่ยอมรับกติกาใดๆนอกจากกติกาของอำนาจเท่านั้น พูดง่ายๆนั่นก็คืออำนาจเป็นจุดหมายของตัวมันเอง ต้องยอมรับมันเท่านั้น ลักษณะสำคัญอีกประการ คือ นักแสวงอำนาจทุกคนถือเอาจุดหมายส่วนตัวมาก่อน ในขณะที่จุดหมายหรืออุดมคติของส่วนรวมเป็นเรื่องรองซึ่งเขาอาจจะเลือกยกย่องจุดหมายใดขึ้นมาเพื่อสร้างภาพทางการเมืองของตนเอง จากลักษณะสำคัญดังกล่าวมีความสอดคล้องกับฮิตเลอร์ จะเห็นได้จาก ฮิตเลอร์พยายามที่จะขยายอำนาจตัวเองออกไปจนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น เป็นผลมาจากความกระหายในอำนาจของฮิตเลอร์เอง ที่ถือเอาความต้องการส่วนตัวมาก่อน เป็นต้น

3.ชีวิตในวัยเด็กที่ส่งผลถึงพฤติกรรมในวัยผู้ใหญ่
คานธี
ชีวิตในวัยเด็กของคานธีเป็นคนที่มีร่างกายอ่อนแอ ปนไม่ค่อยชอบพูดมาก เป็นคนขี้อาย ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง เมื่อโรงเรียนเลิกก็มักจะรีบกลับบ้านเพราะกลัวคนอื่นจะมาหยอกล้อ และเขายังเป็นคนขี้ขลาด กลัวผี กลัวขโมยและสัตว์เลื้อยคลาน คานธีไม่กล้าที่จะมองประตูในเวลา
ค่ำและไม่ชอบนอนในที่มืดเพราะกลัวผีจะมาหลอก กลัวขโมยจะมาทำร้ายหรือกลัวสัตว์เลื้อยคลานจะมาขบกัดเอา บิดาของคานธีคือนายกรมจานท์ คานธี เป็นคนที่มีตำแหน่งหน้าที่สูงคือเป็นรัฐมนตรีของรัฐราชโกฏ เป็นคนไม่เคร่งศาสนา เป็นคนรักครอบครัว รักความซื่อสัตย์ มีความกล้าหาญ ใจคอกว้างขวางแต่โกรธง่าย ครั้งหนึ่งทูตอังกฤษเคยทำการดูหมิ่นเจ้าผู้ครองรัฐราชโกฏ บิดาคานธีได้ประท้วงการกระทำเช่นนั้น ทำให้ถูกอังกฤษสั่งขังจนกว่าจะขอขมา แต่บิดาคานธีไม่ยอมขอขมา อังกฤษจึงจำต้องปล่อย ซึ่งแสดงถึงความไม่ยอมคน ส่วนมารดาของคานธีนั้นเป็นคนที่เคร่งศาสนามาก มีจิตใจอ่อนไหวง่าย ครั้งหนึ่ง เวลาที่ลูกๆทำผิดมารดาของคานธีก็จะไม่ลงโทษลูก แต่จะบอกลูกๆว่าถ้าทำผิดอีกก็จะอดอาหาร ที่เล่ามานี้คือประสบการณ์ของคานธีในวัยเด็กซึ่งค่อนข้างจะผิดกับเด็กชาวอินเดียโดยทั่วไป เขาเป็นคนที่อ่อนแอขี้ขลาด ซึ่งเมื่อโตขึ้นเป็นผู้นำแล้วกลับกลายเป็นคนที่มีความเข้มแข็งมีความไม่เกรงกลัวแม้ศัตรูนั้นก็คืออังกฤษ ซึ่งข้อนี้อาจจะอธิบายว่าเป็นการที่คานธีชดเชยความรู้สึกที่ไม่มีศักดิ์ศรี ขาดความสำคัญหรือเป็นคนอ่อนแอในวัยเด็ก เหตุที่คานธีเป็นคนไม่ยอมแพ้แม้จะถูกจับเข้าคุกหลายครั้ง อาจจะเนื่องมาจากคานธีเห็นตัวอย่างจากบิดา ที่บิดาของเขานั้นไม่ยอมขอขมาทูตอังกฤษแม้จะถูกขังคุกก็ตาม ส่วนวิธีการที่คานธีต่อสู้กับอังกฤษโดยไม่ใช้กำลังนั้น คงมาจากที่มารดาของคานธีเป็นคนเคร่งศาสนาอย่างมาก ที่มารดาของคานธีใช้วิธีอดอาหารประท้วงเมื่อลูกๆไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน
ฮิตเลอร์
ฮิตเลอร์ในวัยเด็ก เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด แม้ว่าจะขี้เกียจอย่างมาก ในงานที่ต้องใช้เวลานานๆ เขาเป็นเด็กช่างฝัน มีเพื่อนไม่มากนัก เขาเป็นเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่นจากบิดาและมารดา แต่ฮิตเลอร์ก็ไม่ชอบให้ใครมาวิจารณ์พ่อของเขาในทางที่ไม่ดี แม่ของเขาแม้จะไม่ค่อยมีเวลาให้เขา แต่ก็จะคอยตามใจเขาทุกครั้งที่มีโอกาส ให้เขาในทุกๆสิ่งที่เขาต้องการ ว่ากันว่า การเอาใจอย่างเกินเหตุนี้เองประกอบในวัยเด็กฮิตเลอร์มีความเป็นผู้นำตามธรรมชาติ โดยเขามักจะนำเพื่อนๆทุกคนในสนามเด็กเล่นอยู่เสมอ จึงเป็นสาเหตุเมื่อโตขึ้นมาฮิตเลอร์จึงมีความเป็นผู้นำและสามารถก้าวไปสู่ความเป็นจอมเผด็จการ